ผู้ป่วยไตวายที่ต้องได้รับการผ่าตัดเส้นฟอกไตแล้ว แต่ไม่ได้รับการผ่าตัด พอถึงเวลาที่ไตล้มเหลวแล้วต้องฟอกไต แต่ยัง ไม่มีเส้นฟอกไตที่แขน การดูแลก็จะซับซ้อนมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะถูกแทงคอเพื่อวางสายฟอกไต ชั่วคราว คำว่า “ชั่วคราว” ก็แสดงว่าสายฟอกไตนี้ ใช้ได้ไม่นาน แต่ ผู้ป่วยที่ ผ่าตัดเส้นฟอกไตไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ก็ไม่ต้องถูกแทงคอ
แต่ที่น่าเสียดายก็คือว่า สาเหตุหนึ่งที่ ผู้ป่วยไตวาย ไม่ได้รับการผ่าตัด ก็คือ ผู้ป่วยกลัว ลังเลที่จะเข้ารับการผ่าตัด
ความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าผู้ป่วยรู้แล้วก็จะหายกลัว ครั้งนี้มารู้จักการผ่าตัดเส้นฟอกไตกัน มาดูว่า หมอเค้าผ่าตัดอย่างไร? ก่อนอื่น ทำความรู้จักหมอผ่าตัดกันก่อน หมอที่ผ่าตัดนี้ เค้าเรียกว่า ศัลยแพทย์เฉพาะทางหลอดเลือด หรือ หมอ ผ่าตัดที่มี ใบวุฒิบัตรบอกถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดหลอดเลือด ครับ
การผ่าตัดเส้นฟอกไต ไม่ได้น่ากลัวเลย
ทำไมถึงบอกว่าไม่น่ากลัว ก็เพราะว่า
- การผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขน เป็นการผ่าตัดเล็ก
- แผลกว้างประมาณ 3ซม
- ใช้เพียงยาชาฉีดเฉพาะที่ ไม่ต้องดมยาสลบ
- ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ผ่าตัดเสร็จแล้วกลับบ้านได้
- ส่วนใหญ่แพทย์ ใช้เวลาในการผ่าตัด ไม่เกิน 1ชั่วโมง
- ที่สำคัญ แพทย์ที่ผ่าตัดนี้ เป็นแพทย์ที่เน้นผ่าตัดเฉพาะหลอดเลือด ทำให้มีความชำนาญในการผ่าตัดเส้นฟอกไต การผ่าตัด ยิ่งมีความปลอดภัยสูงขึ้น
เห็นไหมครับว่า การผ่าตัดเส้นฟอกไต จริงๆแล้วเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าผู้ป่วยคนไหนที่ไม่ได้ผ่าตัด เวลาเกิดไตล้มเหลว ต้องฟอกไตฉุกเฉิน เรื่องที่ควรจะเป็นเรื่องเล็กก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา
ทำไมต้องผ่าตัดเส้นฟอกไต?
ลองนึกภาพดูนะครับว่า เวลาที่ผู้ป่วยไตวาย ต้องไปใช้เครื่องฟอกไต ก็คือ ต้องมีการดึงเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วย ทางหลอดเลือดดำที่แขน แต่หลอดเลือดดำที่ผิวหนังคนเรามีขนาดเล็กและผนังบาง เวลาที่ดึงเลือดออกจากหลอดเลือดเหล่านี้ในอัตราการไหลที่เร็วก็ไม่สามารถทำได้ ขนาดคุณพยาบาลเจาะเลือดไปตรวจ ยังดูดเลือดไม่ค่อยออกเลย
ดังนั้นวิธีหนึ่งก็คือ การสร้างหลอดเลือดำที่มีอยู่ให้สามารถมาใช้ในการฟอกไตได้ โดยการ ทำให้หลอดเลือดดำที่แขน มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีผนังที่แข็งแรงขึ้น โดยการใช้กระบวนการธรรมชาติ ก็คือ
การนำ หลอดเลือดแดงที่อยู่ใกล้กับหลอดเลือดำนี้ มาต่อกับหลอดเลือดดำ ซึ่งแรงดันในหลอดเลือดแดงที่สูงกว่า แรงดันในหลอดเลือดดำมาก เมื่อการผ่าตัดทำให้หลอดเลือดนี้มีการทางเชื่อมต่อกัน เลือดจากหลอดเลือดแดง จึงเกิดการไหลเวียนลัดวงจร ข้ามมายัง หลอดเลือดดำ หลอดเลือดดำก็จะต้องปรับตัวรับแรงดันที่สูงขึ้นนี้ โดยการทำให้ตัวเอง มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีผนังหนาขึ้น ซึ่งกว่าที่หลอดเลือดดำจะปรับตัวเองให้ใหญ่พอต้องใช้เวลานาน จึงเป็นเหตุผลที่ว่า หลังผ่าตัดเส้นฟอกไต ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถใช้เส้นเลือดที่ผ่าตัดมาเข้าเครื่องฟอกไตได้ ต้องรอ ประมาณ 6สัปดาห์
หลังจาก ศัลยแพทย์หลอดเลือด ตรวจอัลตราซาวน์ที่แขน และวางแผนการผ่าตัดแล้ว ก็แสดงว่า แพทย์ได้ประเมินแล้วว่า
ผู้ป่วยคนนี้มีหลอดเลือดที่มีขนาดและความแข็งแรงที่เหมาะสมกับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดก็จะมีโอกาส ประสบความสำเร็จ สูง
คำว่า ” ประสบความสำเร็จ ” ในที่นี้หมายถึง หลังการผ่าตัด หลอดเลือดดำที่มาต่อกับหลอดเลือดแดง จะมีขนาดที่โตและมีผนังที่แข็งแรง เหมาะสม ที่จะสามารถใช้ในการฟอกไตทางหลอดเลือดได้
ขั้นตอนผ่าตัด
- เมื่อ ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด แพทย์จะทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ ที่แขนผู้ป่วย ข้างที่จะผ่าตัด ซึ่งแพทย์มักจะเลือกแขนข้างที่ไม่ถนัดของผู้ป่วย เช่น ผ่าตัดแขนซ้ายในผู้ป่วยที่ถนัดขวา แต่ ในผู้ป่วยบางรายก็อาจจะ ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะข้อจำกัดของขนาดหลอดเลือดแขนของผู้ป่วยที่จะผ่าตัดมีขนาดเล็ก
- แพทย์จะฉีดยาชา บริเวณแขนที่จะผ่าตัด ตลอดการผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้ตัวตลอด จะไม่เจ็บตอนผ่าตัด แต่อาจจะรู้สึกตึงๆขณะแพทย์ทำการผ่าตัด แต่จะไม่เจ็บ
- ตำแหน่งของแผลผ่าตัด ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกตำแหน่งของหลอดเลือดที่จะมาต่อ เช่น ข้อมือ, แขนส่วนล่าง หรือ ข้อพับศอก
- แพทย์ก็จะเริ่มผ่าตัด เพื่อหาหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำเพื่อทำการคล้อง และ ต่อ หลอดเลือดแดงและดำเข้าหากันเมื่อต่อหลอดเลือดเสร็จ ก็จะมีเลือดไหลเวียนจาก หลอดเลือดแดง ไปหลอดเลือดดำ ด้วยแรงการไหลเวียนในหลอดเลือดแดงที่แรงกว่า การไหลเวียนในหลอดเลือดดำ ทำให้ แพทย์สามารถคลำแรงสั่นสะเทือนที่หลอดเลือดดำได้ ที่เรียกว่า Thrill ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยก็จะคลำแรงสั่นนี้ที่ผิวหนังใกล้แผลผ่าตัดได้ ซึ่งการคลำแรงสั่นนี้ได้ เป็นสัญญาณที่ดี แสดงว่า หลอดเลือดที่ผ่า มีการไหลเวียนสะดวก ไม่ตีบตัน
- หลังจากนั้นแพทย์ก็จะเย็บปิดแผล
เห็นไหมครับ พอเรารู้รายละเอียดการผ่าตัดนี้แล้ว ก็คงเห็นด้วยกับผมนะครับว่า
การผ่าตัดเส้นฟอกไตเป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องกลัวกันแล้วนะครับ