รู้แค่ว่า ตัวเอง เป็น ” โรคหัวใจ ” ไม่พอครับเพราะคำว่า โรคหัวใจ เป็นคำที่กว้างควรที่ผู้ป่วยจะต้องรู้ว่า เรามีความผิดปกติส่วนไหนของหัวใจ เมื่อเรารู้ เราก็จะสื่อสารกับคุณหมอได้อย่างเข้าใจ มาดูกันว่า ในแต่ละส่วนของหัวใจที่ผิดปกติ มีโรคอะไรบ้าง
การที่จะรู้ว่าเราเป็นโรคหัวใจ แบบไหน ก็ต้องบอกก่อนว่า เรามีความผิดปกติที่ตำแหน่งไหน หรือ ส่วนไหนของหัวใจ เริ่มแรกเลยเราก็มาสำรวจที่ผิวรอบนอกหัวใจกันก่อน บริเวณนี้ ก็จะมี หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่โอบรอบนอกหัวใจ หลอดเลือดนี้ก็จะส่งแขนงของหลอดเลือดเล็กๆไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บริเวณที่หลอดเลือดนี้พาดผ่าน ใครที่มีหลอดเลือดเหล่านี้ตีบ ก็เรียกว่าเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่นผู้ป่วยแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ เสียชีวิตกระทันหัน คลิกดู โรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งหมด
ดูภายนอกหัวใจแล้ว ต่อไปเราก็มาดูภายในหัวใจ ภายในหัวใจก็จะแบ่งเป็นห้อง ซีกซ้ายและซีกขวา แต่ละซีกของหัวใจก็ยังแบ่งออกเป็นด้านบนกับด้านล้าง ซึ่งระหว่าง ห้องด้านบนกับด้านล่างนี้ ก็จะมี ลิ้นหัวใจคอยปิดเปิด บังคับให้เลือดหมุนเวียนในห้องหัวใจ วิ่งไปในทิศทางเดียว ใครที่มีลิ้นหัวใจเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ก็เรียกว่าเป็น โรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ลิ้นหัวใจเปิดไม่ดี ที่เรียกว่า ลิ้นหัวใจตีบ หรือ ลิ้นหัวใจทำหน้าที่ตอนปิด ปิดไม่ดี มีเลือดไหลย้อนกลับไปได้ ก็เรียกว่า ลิ้นหัวใจรั่ว คลิกดู โรคลิ้นหัวใจ ทั้งหมด
ใกล้ๆกับลิ้นหัวใจ ก็มาดูในส่วนของห้องหัวใจที่อยู่ด้านล่าง โดยเฉพาะห้องล่างซ้าย ผนังของห้องนี้ ก็จะประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่บีบปัีมเลือดให้ออกจากหัวใจ ใครที่มีผนังกล้ามเนื้อนี้ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง หรือ กล้ามเนื้อที่หนาตัว ก้เรียกว่า เป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ คลิกดู โรคกล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมด
ถัดมา ก็มาดู ข้างในของผนังหัวใจทั้งห้องบนและห้องล่าง จะมีเนื้อเยื่อพิเศษที่ทำหน้าที่สื่อนำกระแสไฟฟ้า เป็นตัวกำหนด จังหวะ หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ ใครที่มีเนื้อเยื่อเหล่านี้ผิดปกติ อาจจะเป็นการสื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ติดขัด หรือ มีการลัดวงจร ก้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการได้ทั้งหัวใจเต้นช้า หรือ เต้นเร็วผิดปกติได้ ก็เรียกว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คลิกดู โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งหมด
รู้แบบนี้แล้ว เวลาไปพบแพทย์ ก็ควรถามนะครับว่า เราเป็นโรคหัวใจแบบไหน การที่เรารู้เกียวกับการวินิจฉัยโรคของตัวเองที่ชัดเจน ก็ทำให้เรา สามารถที่จะไปค้นหา ความรู้เกี่ยวกับโรคนั้น หรือ วิธีการดูแลตัวเอง ที่ตรงกับโรคที่ตัวเองเป็นมากขึ้น ครับ
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่