หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม2ไปแล้ว ประมาณ 3เดือน ภูมิคุ้มกันก็เริ่มตกลง จนในช่วง กรกฎาคม 2564 มีรายงานการระบาดครั้งใหม่ตามมาในหลายประเทศ ทั้งที่คนที่ติดเชื้อเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ2แล้ว จนไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลายๆประเทศมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่3 ให้กับ ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับยารักษามะเร็ง หรือ ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์นานๆ
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ
คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องต้อง รีบฉีดวัคซีนเข็มที่3 ไหม?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมอยากทำความเข้าใจก่อนว่า อาวุธอะไรบ้างที่เราใช้สู้กับโควิด
อาวุธที่ใช้ต่อสู้กับโควิดก็คือ ภูมิคุ้มกัน หรือ antibody แต่ การจะดูว่าเราปลอดภัยจากโควิดแค่ไหนโดยดูเพียงระดับภูมิคุ้มกัน อาจจะไม่พอ เพราะว่า เรายังมีพระเอกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคอยกำกับการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ คือ เม็ดเลือดขาว มีทั้ง T เซลล์ และ B เซลล์ ในบทความนี้จะขอเน้นเฉพาะ B เซลล์ ชนิดที่เรียกว่า memory B เซลล์ ชื่อก็บอกแล้วครับว่า memory แปลว่าจดจำ จดจำอะไร? จดจำ หน้าตา ของ ไวรัสโควิด ที่เคยเข้าในร่างกายมาตอนที่ได้รับวัคซีน และจะจดจำต่อไปอีกนาน ปัจจุบันรู้ว่านานมากกว่า 8เดือน แต่จะนานมากกว่า1ปีหรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ การที่ เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ มีความจดจำ ต่อโควิด ก็แสดงว่า เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ สามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้อีกเมื่อต้องพบกับโควิดอีกในอนาคต ดังนั้นถึงแม้ว่าระดับ ภูมิคุ้มกันจะค่อยๆตกลงมาหลัง3เดือนนับจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่เม้ดเลือดขาวเหล่านี้จะยังคงทำหน้าที่ เป็นทหารคอยเฝ้าระวัง โควิด ที่จะเข้ามาในอนาคต
ตามจริงเม็ดเลือดขาว เหล่านี้ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังของ การเกิดภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรก ไม่ว่าภูมิคุ้มกันนั้น จะมาจากการกระตุ้นโดยวัคซีน หรือ จากการติดเชื้อเองตามธรรมชาติ ลองมารู้จัก การเกิดภูมิคุ้มกัน หลังจากที่เราได้รับการฉีดวัคซีนกันนะครับ
หลักการของการฉีดวัคซีนทุกชนิด ก็คือการทำให้เม็ดเลือดขาว เหล่านี้ ได้ลองรู้จัก โควิดก่อน ด้วยการ ให้ โปรตีนที่เป็นตุ่มหนามบนผิวของโควิด (S-protein) เป็นตัวกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เพียงแต่ว่า วัคซีนแต่ละชนิดจะมีกระบวนในการเตรียม โปรตีนตุ่มหนามนี้แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเชื้อตาย (ซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม ) ก็ใช้ตุ่มหนามจากตัวเชื้อที่ตายแล้วเลย, กลุ่ม mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) หรือ กลุ่ม viral vector(แอสตร้า เซเนกา) เป็นการฉีด สารพันธุ์กรรมที่ใช้ในการสร้างตุ่มหนามของโควิด ไปฝากใว้ในเซลล์ของคนที่รับวัคซีน แล้วให้ เซลล์นั้นๆสร้างโปรตีนตุ่มหนามขึ้นมาเอง
หลังจากเกิดตุ่มหนามในร่างกายแล้ว เม็ดเลือดขาวกลุ่มที่เป็นด่านหน้า เช่น แมคโครฟาจ จะเข้ามาจับกิน โปรตีนตุ่มหนามนี้ก่อนเลย ในขณะเดียวกัน ก็ส่งสัญญาณ ไปเรียก เม็ดเลือดขาวที่รออยู่ตามต่อมน้ำเหลือง, ม้าม ได้แก่ เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า T เซลล์ ซึ่ง Tเซลล์นี้ ก็จะส่งสัญญาณ ไปกระตุ้น ให้ B เซลล์ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ2อย่างคือ
1.B เซลล์มีการเปลี่ยนร่าง กลายเป็น พลาสมา เซลล์ ซึ่ง พลาสมาเซลล์นี้แหละครับ ที่ทำให้เรามีภูมิต้านทานขึ้นหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว3-4สัปดาห์ เมื่อเวลาผ่านไป เซลลืเหล่านี้ก็จะสลายตัวลงพร้อมกับ ระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลง
2.B เซลล์ มีการเพิ่มจำนวน แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีการจดจำโปรตีนบางส่วนของโควิดที่มากับ วัคซีน ได้ ที่เรียกว่า Memory B เซลล์ และเซลล์เหล่านี้จะคอยซุ้มเงียบๆในไขกระดูก, ต่อมน้ำเหลือง รอวันเวลาที่จะได้พบกับโควิด ตัวจริงในอนาคต ดังนั้นถึงแม้ว่า ระดับภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนจะลดลง แต่ยังมี เซลล์เหล่านี้ ที่พร้อมจะสร้างภมูิคุ้มกันได้ในเวลาที่รวดเร็ว
ดังจะเห็นผลจากการศึกษาว่า ผู้คนที่ฉีดวัคซีนครบ2เข็มซึ่งมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงเรื่อยๆ เมื่อมาเจอกับการ ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในหลายประเทศ จนทำให้ผู้คนเหล่านี้เกิดการติดเชื้อครั้งใหญ่ระลอกใหม่ แต่อัตราการป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน แสดงว่า ถึงแม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังฉีดวัคซีนแต่มีกลไกบางอย่างในร่างกายคอยปกป้องเราอยู่ ซึ่งก็คือ Memory B เซลล์ ที่ยังคอยทำงานอยู่ตลอดเวลา
คนทั่วไป ควรฉีดวัคซีนเข็มที่3 หรือไม่ ?
การฉีดวัคซีนเข็มที่3 ในคนทั่วไป เพื่อ กระตุ้นให้ระดับภูมิต้านทานที่เคยมีระดับสูงเพียงพอที่จะป้องกันการป่วยรุนแรง และภายหลังฉีดวัคซีนเข็มที่2 ระดับภูมิคุ้มกันนั้นกลับลดลง เราเรียกว่า การฉีดเข็มที่3 นี้ว่า เป็นการฉีด booster ซึ่งเป้าหมายของการฉีดเข็ม3 นี้ ต่างจากการฉีดเข็ม3ในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะการ ฉีดวัคซีน เข็ม3 ในกลุ่มคนเหล่านี้ มีเหตุผลเพราะว่า กลุ่มคนเหล่านี้หลังจากฉีดวัคซีน เข็มที่2แล้ว ภูมิคุ้มกันก็ยังไม่สูงในระดับที่ป้องกันการเจ็บป่วยจากโควิดได้ จึงไม่เรียกว่า ฉีด booster ในกลุ่มคนเหล่านี้
ดังนั้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากขึ้น หลังติดเชื้อ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ2เข็มแล้วก็ตาม ดังนั้น วัคซีนเข็มที่3 จึงจำเป็นในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
แล้วคนทั่วไป ควรฉีดเข็มที่3ไหม? ถ้าอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ข้างต้นก็ตอบว่า คนทั่วไปอาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดเข็ม3 ในเวลานี้ แต่ก็มีหลายประเทศ ที่มีฐานะร่ำรวย ก็ยินดีที่จะฉีดให้กับประชากรตัวเอง ทั้งที่ไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง การฉีดเข็ม3 อาจจะไม่ได้มีผลเสียอะไรมากกับผู้ที่รับการฉีด แต่ก็อาจจะมีผลต่อการระบาดโควิดในภาพรวม คือปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในบางกลุ่มประเทศ จะยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายได้ กล่าวคือ ยังมีประชากรในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยที่ไม่เข้าถึงวัคซีนเข็มแรก มีไม่ถึง5% ในขณะที่ประชากรในประเทศที่มีรายได้สูง มากกว่า 80% กำลังจะได้เข็มที่3 คือถ้า โรงงานผลิตวัคซีนได้เหลือเฟือก็คงจะไม่เป็นปัญหาที่จะฉีดเข็มที่3 แต่ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนก็ยังมี แม้บางประเทศที่สามารถจะซื้อวัคซีนได้ แต่โรงงานก็ผลิตให้ไม่ได้ ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้าประชากรในประเทศที่มีรายได้สูงถึงปานกลาง แย่งกันฉีดวัคซีนเข็มที่3 การขาดแคลนวัคซีนก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นในบางประเทศ ผลที่ตามมาก็คือ การแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้วัคซีนก็ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่ตามมาก็คือ ความหายนะของประเทศนั้นทั้งระบบสาธารณสุข, เศรษฐกิจและการเมือง และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อยังมีการแพร่กระจายเชื้้อ เพิ่มจำนวนเชื้อ ย่อมมีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจจะร้ายแรงกว่า สายพันธุ์เดลต้า เมื่อถึงเวลานั้น การที่หลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนเข็ม3 ก็อาจจะไม่สามารถรับมือ กับ โควิดสายพันธุ์ใหม่ๆได้
โควิดจึงสอนให้เรารู้ว่า การเอื้อเฟื้อต่อกัน เป็น พื้นฐานที่ทำให้มนุษย์บนโลกใบนี้ อยู่รอด
เมื่อไม่กีวันมานี้ ชาวโลกก็ต้องขอบคุณ ประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่มองเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จนมีการบริจาค วัคซีนโควิดจำนวน500ล้าน โดส ไปยังประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อย
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ชีวา
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี
ชีวา เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ ตั้งอยู่ใน ซอยกันตนา บางใหญ่ นนทบุรี การบริการประกอบไปด้วย
ศูนย์พักฟื้น กายภาพบำบัด และ ดูแลผู้สูงอายุ แบบพักรายเดือน
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม หรือศูนย์ฟอกไต โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทอง เบิกค่าใช้จ่ายในการฟอกไตได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
คลินิกทำเส้นฟอกไต โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทอง สามารถเบิกได้ตามสิทธิ
คลินิกโรคหัวใจ, คลินิกโรคกระดูกและข้อ