วัคซีนโควิดเข็ม3 จำเป็นแค่ไหน

ในบทความนี้ จะอ้างถึงเฉพาะวัคซีนกลุ่ม mRNA นะครับ เพราะมีข้อมูลการศึกษามากกว่า วัคซีนกลุ่มอื่นๆ

เมื่อ12สิงหาคม 2021 FDA หรือ องค์การอาหารและยาในประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองการใช้ วัคซีนไฟเซอร์ สูตรแบบ 3เข็ม เฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์, ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังเข้ารับการรักษา, ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มานาน, ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนคนทั่วไปยังคงใช้แบบสูตร2เข็มต่อไป

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า เราจะฉีดวัคซีนเข็มที่3 เราฉีดเพื่อ อะไร ?

มี2เหตุผลที่เราจะฉีดวัคซีนเข็มที่3 คือ

1. ผู้ป่วยกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้สูงอายุ การฉีดวัคซีนครบ2เข็มในกลุ่มคนกลุ่มนี้ ภูมิคุ้มกันก็มักจะสูงไม่มากพอ เมื่อมีการติดเชื้อก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรงหรือเสียชีวิต กลุ่มนี้จึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ต่ำอยู่ให้สูงขึ้นไปอีกจนเพียงพอกับการป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่า การฉีดวัคซีนเข็ม3 ในเวลา4สัปดาห์หลังได้รับเข็ม2แล้ว มีความจำเป็น เพื่อลดการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้

2. กลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ได้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งเมื่อได้รับการ ฉีดวัคซีน2เข็มครบไปแล้ว ภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่ก็จะขึ้นได้ดี แต่พอเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันนั้นก็จะค่อยๆลดลง เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่3ในกลุ่มนี้จึงเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันยังคงมีระดับที่สูงพอเพียงในการป้องกันการเจ็บป่วย เรียกว่า vaccine booster ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบตัวเลขระยะเวลาที่ชัดเจน ว่าควรฉีดกระตุ้น หรือ booster เมื่อไหร่ แต่ในสหรัฐอเมริกาก็จะเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นนี้ให้กับคนกลุ่มแรกๆที่ได้วัคซีนไปตั้งแต่ ธันวาคมปีที่แล้ว หรือประมาณ8เดือนหลังจากฉีตเข็มที่2ไปแล้ว

ย้อนกลับมามองประเทศอิสราเอล ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วทั่วถึง อันดับต้นๆของโลก ประมาณว่า ช่วงมีนาคม ประเทศนี้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประชาชนครบ2เข็มมากกว่าครึ่งของคนทั้งประเทศ ขณะที่หลายประเทศกำลังดิ้นรนหาวัคซีนเข็มแรกกันอยู่ จนอัตราการติดเชื้อใหม่ลดลงมาก ผู้ติดเชื้อใหม่มีไม่ถึง10รายต่อวัน ทำให้ รัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ไม่ต้องใส่หน้ากากในที่สาธารณะ จนมาถึงช่วงเดือนกรกฎาคม เริ่มมีการระบาดครั้งใหญ่ระลอก4 ทำให้ในช่วง กันยายน มีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่รายวันเป็นหลักหมื่นคน เป็นผลจาก การเข้ามาระบาดของ โควิดสายพันธุ์เดลต้า ในอิสราเอล ซึ่งการระบาดในช่วงนี้ก็มีรายงานในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นใน สก๊อตแลนด์, ญี่ปุ่น, ฟิลิปินส์ และในกลุ่มประเทศยุโรป ถึงแม้ว่า สายพันธุ์เดลต้าจะทำให้เกิดการติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่คนที่ฉีดวัคซีนครบ2เข็ม ก็ยังคงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิต

ข้อมูลจาก MedRxiv พบว่าวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนในอิสราเอลจนครบ2เข็ม จะมี ประสิทธิภาพลดลง และทำให้ประชาชนมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิต สอดคล้องกับการศึกษาในอังกฤษ จึงเกิดคำถามว่า

วัคซีน2เข็มพอเพียงกับการรับมือ สายพันธุ์หรือไม่?

ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศแรกๆที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่3 ให้กับประชากรตัวเองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเริ่มให้กับผู้สูงอายุก่อน จนปัจจุบัน เริ่มให้ในประชากรทั่วไปที่อายุมากกว่า12ปีแล้ว นอกจากประเทศอิสราเอล แล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน, รัสเซีย, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา,อิตาลี,สิงคโปร ก็มีการฉีดวัคซีนbooster ให้กับประชากรตัวเองในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เริ่มฉีดกันในเดือนสิงหาคม-กันยายน กันแล้ว

ถึงแม้ว่า ข้อมูลจากประเทศอิสราเอล ที่ดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแบบbooster มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแบบ2เข็ม แต่ก็ยังต้องรอการศึกษาผลไปอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในอังกฤษ และ ในสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล มากกว่า กลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบ2เข็ม ถึง29เท่า รวมถึงการติดเชื้อและการเสียชีวิต ที่มากกว่ากลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนครบ

การฉีดวัคซีนBooster ให้กับคนทั่วไปในช่วงเวลานี้ อาจจะเร็วเกินไป เพราะข้อมูลยังไม่ชัดเจน อีกทั้งการดึงวัคซีนที่มีจำนวนจำกัดในเวลานี้ไปใช้เพื่อฉีดวัคซีนbooster ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงหรือปานกลาง จะทำให้กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ยิ่งไม่ได้รับวัคซีน โอกาสที่จะควบคุม โควิดก็จะยากขึ้น เพราะ ความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าเดลต้าก็จะมากขึ้น และพร้อมที่จะกระจายได้ทั่วโลก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น วัคซีนbooster ก็อาจจะไม่มีประโยชน์เลย

ในอีกมุมมองของปัญหาที่เกิดจากการเร่งฉีดวัคซีนbooster ให้กับคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศที่ร่ำรวยอาจจะมีความสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรตัวเองกี่เข็มก็ได้ มีวัคซีนล้นประเทศ จนมีวัคซีนฉีดไม่ทันหมดอายุจำนวนมาก ในช่วงพฤษภาคม อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรก ประเทศที่มีรายได้สูงมีมากถึง 28% ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย ยังมีการฉีดเข็มแรกเพียง 0.7% หรือ มากกว่า50เท่า

การควบคุมการแพร่เชื้อ และการกลายพันธุ์ของ โควิด ไม่ได้เป็นเรื่องของประเทศใครประเทศมัน เพราะตราบใดที่อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำมากในบางประเทศ นั่นหมายถึง การยังคงมีการแพร่เชื้อ เพิ่มจำนวน โควิด อันนำมา ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่าเดลต้า แล้วประเทศที่ขึ้นชื่อว่าได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด จะรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ได้นานแค่ไหน

องค์การอนามัยโลก ประมาณว่า ถ้าในปีนี้ประเทศที่ร่ำรวย แค่ 11 ประเทศ มีนโยบายฉีดวัคซีนbooster มีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับประชากรตัวเองที่มีอายุมากกว่า50ปีทุกคน นั้นหมายถึงวัคซีนปริมาณมหาศาล 440ล้านโดส จะถูกดึงไปจากประเทศที่มีรายได้ไม่สูง ทำให้ โอกาสที่คนส่วนใหญ่บนโลกนี้จะได้วัคซีนครบ2เข็ม เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อกลายพันธุ์ของโควิด ก็ยิ่งห่างออกไปอีก อีกทั้งประโยชน์ในการลดการเสียชีวิต ของวัคซีนbooster ในคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ยังไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีน2เข็ม การกระจายวัคซีนจำนวนมหาศาลเหล่านี้ไปให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำย่อมจะมีประโยชน์มากกว่าในการควบคุมการแพร่เชื้อและการกลายพันธุ์ ของโควิด

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ