โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ที่จะเล่าในบทความนี้ เป็นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่7 อักเสบ จนทำให้ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าทั้งซีก ที่ควบคุมโดยเส้นประสาทคู่ นี้ไม่ทำงาน ที่เรียกว่า Bell’s palsy หรือเรียกกันสั้นๆว่า โรคเบลล์ เราได้รวบรวม คำถามมากมายที่น่าสนใจจากผู้มาฟื้นฟู มาตอบในบทความนี้กันครับ
1 โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นอาการของ อัมพาต?
โรคเบลล์ ทำให้ผู้ป่วย มีอาการปากเบี้ยวเกิดขึ้นภายในเวลา 1-2วัน อาการจึงดูคล้าย โรคหลอดเลือดสมองหรือ อัมพาต แต่เป็นคนละโรค ไม่เกี่ยวกันนะครับ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการปากเบี้ยวที่เกิดนี้ไม่ได้เกิดจาก อัมพาต?
มีข้อแนะนำ2ข้อ ที่ผู้ป่วยใช้สังเกตุตัวเองได้
1 ผู้ป่วยที่มีอาการปากเบี้ยวจาก อัมพาต หรือ โรคหลอดเลือดสมอง จะมีอาการอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น แขนขาอ่อนแรง, พูดไม่ชัด, เดินเซ, กลืนลำบาก ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะเกิดภายในเวลาเป็นวินาที แต่ในขณะที่ โรคเบลล์ จะมีเพียง กล้ามเนื้อที่ใบหน้าซีกหนึ่ง อ่อนแรงอย่างเดียวและใช้เวลา1-2วัน ในการเกิดอาการ
2 ลักษณะการอ่อนแรงที่ใบหน้าใช้บอกได้ว่า เกิดจากโรคเบลล์ หรือ โรคหลอดเลืดสมอง โดยเราทดสอบง่ายๆครับ ลองให้ผู้ป่วยทำ แสดงสีหน้าใน 3ขั้นตอนดังนี้ โดยในคนปกติจะทำ3ขั้นตอนนี้ได้ คือ
1 ขมวดคิ้ว แล้วหน้าผากย่นขึ้น 2 หลับตา แล้วปิดตาได้สนิท 3 ยิ้ม แล้วมุมปากไม่ตก
สังเกตใบหน้าผู้ป่วยซีกที่มีปัญหา โดยผู้ป่วยโรคเบลล์ จะทำทั้ง 3ขั้นตอนนี้ไม่ได้เลย ในขณะที่ ผู้ป่วยอัมพาต จะขมวดคิ้วได้ทั้งสองข้าง คือเห็นรอยย่นบริเวณหน้าพาก หลับตาได้สนิททั้งสองข้าง แต่ยิ้มแล้วมุมปากข้างที่อ่อนแรงจะตกลง ทำไมสองโรคนี้ถึงมีหน้าเบี้ยวต่างกัน?
2.โรคเบลล์ เกิดจากอะไร
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุครับ แต่เชื่อว่าเกิดจากการอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่กระทำต่อการติดเชื้อไวรัส เริม, งูสวัด, อิสุกอิใส หมายความว่า เราอาจจะเคยติดเชื้อไวรัสเหล่านี้มาก่อน แล้วเชื้อนี้ หลบซ่อนอยู่ในระบบประสาท พอร่างกายเราอ่อนแอ เชื้อก็ออกมาเล่นงานให้เส้นประสาทเรา อักเสบขึ้นมา นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์สูงถึง3เท่า, ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ โรคอ้วน
3. อาการเป็นอย่างไร
อาการหลักๆคือ กล้ามเนื้อใบหน้าทั้งซีกอ่อนแรง ตั้งแต่ มุมปากตกดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกมาจากมุมปากซีกที่อ่อนแรง, หลับตาไม่สนิท น้ำตาไหล เวลาหลับตาจะเห็นตาดำกลอกขึ้นบน ปัญหาของการหลับตาไม่ได้ ก็ให้เกิดตาแห้ง ระคายเคืองตาแดงตามมา นอกจากนี้ เส้นประสาทสมองยังไปควบคุมการรับรสที่ลิ้นซีกหนึ่ง ทำให้การรับรสของลิ้นซีกนั้นเปลี่ยนไป, การได้ยินเสียงที่ดังมากกว่าปกติของหูข้างเดียวกับเส้นประสาทสมองที่มีปัญหา เพราะกล้ามเนื้อหูที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับการได้ยินเสียไป
4. โรคนี้รักษาหายไหม?
โชคดีที่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะหายหลังจากการรักษา โดยมักจะหายภายในเวลา 2สัปดาห์จนถึง6เดือนหลังจากที่เริ่มมีอาการ แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงเป็นตลอดชีวิต การรักษาโดยการใช้ยาสเตียรอยด์ ที่เริ่มเร็ว ใน72ชั่วโมงหลังเกิดอาการ มีความสำคัญ อาจจะใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสในบางราย ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ การป้องกันการเกิดแผลที่กระจกตาของดวงตาในซีกใบหน้าที่มีปัญหา เพราะผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาได้สนิท โอกาสที่ตาจะระคายเคือง อักเสบ ตาแห้ง หรือได้รับอันตราย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน การใช้ยาหยอดตาร่วมกับการปิดตาจึงมีความจำเป็น นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดรวมทั้งการกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยไฟฟ้าก็มีความสำคัญ
5. การทำกายภาพบำบัดมีความจำเป็นไหม?
จำเป็นครับ นักกายภาพบำบัด จะประเมินและช่วยวางแผนการฟื้นฟูที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกล้ามเนื้อ, การนวดกล้ามเนื้อ ไปจนถึง การกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ใบหน้าด้วยไฟฟ้า กระบวนการเหล่านี้ เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ใหม่ให้กับสมอง การเริ่มทำกายภาพบำบัดตังแต่ในระยะแรกจะช่วยให้การฟื้นตัวของกล้ามเนื้อเป็นไปได้เร็วขึ้น และกลับมาทำงานแบบสมบรูณ์
ถึงแม้ว่า โรคเบลล์ จะมีการฟื้นตัวขึ้นได้เอง แต่การกระตุ้นไฟฟ้าในระยะแรกของโรคจะช่วยให้ กล้ามเนื้อไม่ฝ่อลีบและเกิดการเรียนรู้ใหม่ขึ้นมา ทำให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น การกระตุ้นด้วยไฟฟ้านี้ จะได้ประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยบางคน ซึ่งก็ขึ้นกับการประเมินของ นักกายภาพบำบัด
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ
www.jems.com/patient-care/
www.facialpalsy.org.uk/support/treatments-therapies/electrical-stimulation/
นักกายภาพบำบัดประจำ
ชีวา ศูนย์พักฟื้น ผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม
คลินิกโรคหัวใจ
บางใหญ่ นนทบุรี