บทความที่26 3 ข้อระวังในการตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็ว Antigen test kit
การตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็ว หรือที่เรียกว่า Antigent Test Kit(ATK) หรือ Rapid Antigen Test (RAT) ที่มีการซื้อใช้กันเองอย่างแพร่หลาย ใช้ตรวจง่ายๆแบบตรวจการตั้งครรภ์ เลย แต่ทำไมในหลายประเทศก็ยังจำกัดการตรวจ กำหนดให้การตรวจนี้ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาล, คลินิก, หรือ ศูนย์ทางสาธารณสุขต่างๆ มีเหตุผล 3ข้อ
1 การตรวจแบบ Antigent test kit (ATK)มีความไวในการตรวจน้อย
คำว่าความไวในการตรวจ หรือ sensitivity มันสำคัญอย่างไร? การตรวจantigent test kit ส่วนใหญ่ มีความไว ประมาณ 80% เมื่อเทียบกับวิธีแบบRT-PCR ที่เราต้องขับรถ drive thru ไปตรวจในโรงพยาบาล ความไว 80% ในที่นี้หมายถึง ผู้ป่วยที่มีเชื้อโควิด 100คน เมื่อมารับการตรวจด้วยวิธี ATK นี้ พบว่ามี 20คน ที่กลับแสดงผลการตรวจออกมาว่าไม่มีเชื้อ ทั้งที่มีเชื้ออยู่ เราเรียกว่าเป็น ผลลบแบบลวง (false negative) นอกจากนี้ ตัวเลขความไว 80% นี้ เป็นค่าที่ได้จากการศึกษาทดลอง นั้นหมายถึงว่า ในการศึกษาของแต่ละบริษัทนั้น ผู้ทำการตรวจ เป็นคนที่มีความชำนาญในการตรวจ แต่ในชีวิตจริง ถ้าผู้ทำการตรวจเป็นประชาชนทั่วไป ผลของความไว ก็อาจจะ ยิ่งต่ำกว่า80%
ผลการตรวจที่เป็นลบแบบลวงนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้รับการตรวจเข้าใจผิดว่า ตัวเองปลอดภัยจากโควิด การเฝ้าระวัง กักตัวเอง ก็อาจจะลดลง ซึ่งมีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อต่อไป
2 เทคนิคในการเก็บสารคัดหลั่งในลำคอที่ไม่ถูกต้อง ทำให้พบ ผลลบแบบลวง มากขึ้นไปอีก
ปัญหาใหญ่ของการรายงานผลการตรวจที่เป็น ผลลบแบบลวง ไม่ว่าจะเป็นวิธีแบบRT-PCR หรือ แบบATK(แบบรู้ผลเร็ว)คือ เทคนิคการเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูก หรือ ผนังด้านหลังลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เชื้อเข้าร่างกาย โดยเฉพาะ ชุดตรวจATK การเก็บตัวอย่างด้วยก้านเก็บตัวอย่าง จากโพรงจมูก และ ผนังด้านหลังลำคอ โดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญ ทำให้ได้ปริมาณสารคัดหลั่งที่ไม่มากพอ ก็อาจจะทำให้ผลการตรวจออกมาเป็นลบแบบลวงได้ ทั้งที่คนนั้นมีเชื้อโควิดอยู่
อีกปัญหาหนึ่ง การตรวจในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลตรวจออกมาเป็นผลลบแบบลวง ซึ่งพบได้บ่อยในวิธีการตรวจแบบ ATK มากกว่าวิธี RT-PCR เนื่องจากเชื้อโควิดในลำคอจะมีจำนวนมากที่สุดในช่วง 1สัปดาห์แรกของการได้รับเชื้อ และหลังจากแสดงอาการ จำนวนเชื้อก็จะลดลง ดังนั้นการตรวจหาเชื้อไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ก็ควรต้องทำในช่วงที่กำลังมีจำนวนเชื้อที่มากพอ
ในภาพข้างบน เปรียบเทียบ โอกาสที่จะตรวจพบว่ามีการติดเชื้อโควิดของ2การตรวจ คือ แบบ RT-PCR (เส้นสีเทา)และ การตรวจแบบรู้ผลเร็ว ATK (เส้นสีแดง) จะเห็นว่า การตรวจทั้งสองแบบจะมีโอกาสตรวจพบเชื้อใน1สัปดาห์แรกที่ได้รับเชื้อ แต่ หลังจากนั้น ความสามารถในการตรวจหาเชื้อแบบวิธี ATK จะลดลงใน1สัปดาห์แรกหลังจากมีอาการ ในขณะที่การตรวจแบบRT-PCR ยังคงตรวจพบเชื้ออยู่ แม้เวลาจะผ่านไป1เดือนหลังจากมีอาการ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การตรวจแบบATK ต้องอาศัย ปริมาณเชื้อโควิด ที่มากกว่า การตรวจแบบ RT-PCR ในการที่จะทำให้ผลตรวจออกมาเป็นบวก ดังนั้นการตรวจด้วยวิธี ATK ก็จะมีความแม่นยำในช่วง1สัปดาห์แรกหลังได้รับเชื้อ และ 1สัปดาห์หลังที่มีอาการ แต่หลังจากนั้น การตรวจจะมีความแม่นยำลดลง จึงเป็นเหตุผลที่ว่า คนที่ได้ผลเป็นลบจากการตรวจแบบ ATK แต่มีอาการหรือ มีประวัติเสี่ยงก็ยังคงต้องใช้การตรวจแบบ RT-PCR เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง หรือจะใช้การตรวจแบบATKนี้ แต่ควรตรวจซ้ำเป็นช่วงๆ เช่นทุก3-7วัน นาน2สัปดาห์ ดังนั้นการตรวจที่หาเชื้อในช่วงเวลาที่เชื้อไม่มากพอก็ทำให้ผลตรวจออกมาเป็นผลลบแบบลวงได้ทั้งที่มีการติดเชื้ออยู่
3 การตรวจก็ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในขณะที่ทำการตรวจได้
การตรวจหาเชื้อโควิดแบบATK อาจจะดูเหมือนตรวจง่าย คล้ายกับการตรวจการตั้งครรภ์ที่ใช้แผ่นตรวจเหมือนกัน นอกจากความยุ่งยากในการเก็บเชื้อที่เหมาะสมในลำคอแล้ว โอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายให้คนรอบข้างก็เป็นไปได้สูง โดยเฉพาะเชื้อโควิดสายพันธ์ใหม่ๆ ที่มีการติดต่อได้ง่าย การตรวจเชื้อทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเพราะว่า ผู้รับการตรวจต้องเปิดหน้ากาก หรืออาจจะมีการไอจามขณะทำการตรวจ ดังนั้นการป้องกันการได้รับเชื้อของผู้ทำการตรวจจีงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสวมชุด ป้องกัน, การใส่หน้ากาก ร่วมกับการใส่ face shield รวมทั้งการตรวจในสถานที่มีการหมุนเวียนของอากาศ อย่าให้การตรวจเชื้อกลายเป็นการแพร่กระจายเชื้อในที่สุด
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา คลินิกกายภาพบำบัด
บางใหญ่ นนทบุรี