บทความที่25 2สัญญาณเตือนที่บ้าน บอกว่าคุณกำลังแย่จากโควิด
ภาพข่าวผู้คนเสียชีวิตจากเชื้อโควิด เพิ่มขึ้นในทุกวัน ทั้งเสียชีวิตที่บ้าน, ข้างถนน หรือในโรงพยาบาล ทำไมถึงเกิดภาพแบบนี้ในเมืองไทย เมืองที่มี ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งระดับแนวหน้าของภูมิภาคนี้
ใช่ครับ การมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากในเวลาที่รวดเร็วจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาล เป็นสาเหตุสำคัญ แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ใช้อธิบายการเสียชีวิตที่สูงขึ้นนี้ คือ ลักษณะการเกิดปอดอักเสบจากโควิด ที่ต่างจากปอดอักเสบจาก โรคอื่นๆ นั่นคือ การเกิด Silent Hypoxia หรือ การขาดออกซิเจนอย่างสงบ จากโควิด โดยทั่วไป ในเวลาที่ปอดเกิดการติดเชื้อ จนเกิดการคั่งของสารน้ำในถุงลมภายในเนื้อปอด ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศในถุงลม เสียไป เกิดการขาดออกซิเจน (hypoxia) และ การคั่งค้างของ คาร์บอนไดออกไซด์ตามมา ปอดก็จะถูกกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเร็ว หอบ หายใจแรง จนคนในครอบครัวสังเกตุเห็นอาการที่แย่ลงและรีบมาโรงพยาบาลตั้งแต่ในระยะแรกของการเกิดปอดอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก แต่ความน่ากลัวของ การติดเชื้อในปอดจากโควิด อยู่ตรงที่ว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการหอบเหนื่อยให้เห็น ถึงแม้ว่า ระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำลงมามาก หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย จนเห็นจากการเอกซ์เรย์ปอดแล้วก็ตาม ทำให้คนในครอบครัวไม่เห็นอาการของผู้ป่วย จนกระทั้งระดับออกซิเจนต่ำมากจนอวัยวะต่างๆทำงานล้มเหลว ร่างกายทนไม่ไหว ผู้ป่วยจึงค่อยแสดงอาการหายใจลำบาก, หายใจเร็ว, หายใจแรง ให้เห็น ผู้ป่วยจึงจะถูกส่งตัวมาโรงพยาบาล ซึ่งเป็น ระยะท้ายของการติดเชื้อ การรักษาจึงไม่ทันเวลา จนผู้ป่วยเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว
ดังนั้น เมื่อพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด การเฝ้าระวังเพียงการเปลี่ยนแปลงของอาการเช่น หอบเหนื่อย ตลอด2สัปดาห์ของการสังเกตุตัวเอง จึงไม่เพียงพอ
2สัญญาณต่อไปนี้ ที่เป็น สัญญาณ บอกว่าคุณมีโอกาสเสียชีวิตสูง จากโควิด
1 ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ มีข้อมูลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด มีระดับออกซิเจนต่ำกว่า92% ในวันที่นอนโรงพยาบาล จะมีอัตราการตายที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ยิ่งระดับออกซิเจนต่ำ อัตราการตายก็สูงขึ้นตาม โดยในกลุ่มที่มีระดับออกซิเจนต่ำกว่า 80% จะมีโอกาสเสียชีวิตถึง4เท่า และที่สำคัญ ผู้ป่วยเหล่านี้ซึ่งมีออกซิเจนต่ำกว่า92% ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ ดังนั้นการเฝ้ารอดูแต่อาการที่บ้านอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ การติดตามระดับออกซิเจนที่บ้านจึงถือว่าเป็นสัญญาณชีพอีกอันหนึ่งที่ต้องติดตาม เราสามารถวัดระดับออกซิเจนในเลือดได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ด้วยเครื่องตรวจจับที่ปลายนิ้ว (Oximeter) การติดตามระดับออกซิเจนที่ลดลง ถือว่าเป็นตัวชี้วัด ที่บอกว่า ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลได้หรือยัง โดยไม่ต้องรอจนผู้ป่วย มีอาการหอบหรือแย่ลง โดยทั่วไประดับออกซิเจนที่ปกติในเลือดของคนทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือ โรคนอนกรน จะมีระดับตั้งแต่95%ขึ้นไป ดังนั้นการที่ระดับออกซิเจนต่ำกว่า95% หรือ ระดับออกซิเจนมากกว่า95% แต่มีระดับลดลงหลังจากออกกำลัง เช่น ลุกนั่งบนเก้าอื้ติดต่อกัน1นาที แล้วระดับ ออกซิเจนลดลง มากกว่า3% ค่าเหล่านี้บ่งบอกถึงภาวะร่างกายขาดออกซิเจนจากการเกิดปอดอักเสบ เป็นสัญญาณที่ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม แต่ถ้า ระดับ ออกซิเจนลดลง มาต่ำกว่า 92% หรือ ระดับออกซิเจนลดลงจากภาวะปกติ มากกว่า 4% ถือว่าเป็น ภาวะฉุกเฉินที่ควรรีบมาโรงพยาบาล
2 อัตราการหายใจที่เร็วมากกว่าปกติ ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า การหายใจเร็ว(Tachypnea)ต่างจาก การหายใจลำบาก(Dyspnea) คนที่มีอาการ หายใจลำบาก จะสังเกตุว่า ผู้ป่วยต้องใช้แรงในการหายใจเข้า, แน่นหน้าอก, กระสับกระส่าย ซึ่งอาจจะมีอาการหายใจเร็วร่วมด้วยได้ แต่ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ที่มีความรุนแรงของโรคมากแล้วจน มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำมาก กลับมีแต่อาการหายใจเร็ว โดยที่ไม่สังเกตเห็นลักษณะการกระสับกระส่ายของผู้ป่วยจากการหายใจลำบากให้เห็น ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ตัวและไม่ถูกพามารับการรักษาได้ทันเวลาจนต้องเสียชีวิต ในภาวะปกติ อัตราการหายใจของเราจะอยู่ในช่วง 12-20ครั้งต่อนาที การวัดอัตราการหายใจด้วยตัวเองที่บ้าน จึงสามารถใช้เป็นสัญญาณบอกได้อย่างดีว่า ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะอันตรายและควรรีบไปโรงพยาบาลคือ โดยผู้ป่วยที่มีอัตราการหายใจที่เร็วตั้งแต่ 23ครั่ง/นาที ขึ้นไป ก็มีอัตราการตายสูงขึ้นเกือบ2เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่หายใจเร็วมากกว่า 32ครั้ง/นาที อัตราตายสูงจะสูงถึง 3.2เท่า
ที่มาของข้อมูล
www.nytimes.com/2020/04/20/opinion/sunday/coronavirus-testing-pneumonia.html
www.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/irv.12869
www.bmj.com/content/372/bmj.n677
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
คลินิกโรคหัวใจ
ศูนย์ไตเทียม
บางใหญ่ นนทบุรี