การตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็ว เชื่อได้แค่ไหน?

ตรวจโควิด

บทความที่24 การตรวจโควิดแบบรู้ผลเร็วเชื่อถือได้แค่ไหน?

ผมติดเชื้อโควิดแล้วหรือยัง?

เป็นคำถามของหลายคนในช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อ โควิด การจะรู้ได้ว่าเราติดเชื้อโควิดนี้แล้วหรือยัง ก็ต้องใช้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR (polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เราคุ้นเคยกัน ถ้าใครนึกไม่ออก ก็นึกตอนที่เราขับรถ drive thru เข้าไปตรวจใน โรงพยาบาล วิธีนี้ มีความแม่นยำสูง เรียกว่าเชื่อถือได้ แพทย์จึงใช้ผลการตรวจจากวิธีนี้เป็นวิธีหลักในการใช้วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยคนนี้ ติดเชื้อโควิด

แต่ปัญหาของการตรวจวิธีหลักนี้ก็คือ การตรวจต้องใช้เครื่องมือ, วิธีการที่ซับซ้อน และบุคลากรที่มีความชำนาญ ดังนั้นการตรวจในประชาชนจำนวนมาก เพื่อทำการสืบค้น หาคนที่ติดเชื้อโควิด แล้วจะได้รีบคัดแยกออกมาจากคนที่ไม่ติดเชื้อ จึงไม่สามารถทำได้ทันเวลา จนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อในผู้คนหมู่มากตามมา

จึงมีการนำวิธีการตรวจวิธีใหม่เข้ามาใช้ในประเทศไทย คือ การตรวจหาโปรตีนของเชื้อโควิดแบบรู้ผลเร็ว ใน15นาที ที่เรียกว่า Rapid Antigen tests (RATs) หรือ Antigen test kit (ATK) แล้วแต่จะเรียกชื่อกัน การตรวจนี้ต่างจากการตรวจแบบแรก คือ เป็นการตรวจหา โปรตีนที่อยู่บนผิวของเชื้อโควิด ไม่ได้ตรวจหาสารพันธุกรรมของ เชื้อโควิด อย่างที่วิธีแรกทำ โดยใช้หลักการทำปฎิกริยาทางเอนไซน์ ระหว่างสารเคมีกับสารคัดหลั่งในโพรงจมูก เพื่อให้เกิดแถบสีแสดงผล

ชุดตรวจโควิด

อ่านผลการตรวจอย่างไร ?

ในรูปข้างบน แสดงการอ่านผลของแถบตรวจ หลังจากที่เราป้ายสารคัดหลั่งในคอด้านหลังโพรงจมูกอย่างถูกวิธีแล้ว ผสมน้ำยาในชุดตรวจและหยดน้ำยานี้ลงในช่องตรวจรอ 15-30นาที แต่ไม่เกิน30นาที เพราะว่า รอนานกว่า30นาทีไปแล้ว ค่าของแถบสีจะใช้อ่านไม่ได้

การแปลผลดูจากการแสดงของแถบสีในช่องอ่านผลที่จะปรากฎขึ้นมา ในตำแหน่งอักษร C และ T การตรวจสามารถบอกผลได้เป็น3แบบคือ 1. ผลบวก เมื่อเกิดแถบสีทั้งที่ตำแหน่ง Cและ T 2. ผลลบ เมื่อเกิดแถบสีที่ตำแหน่ง C ตำแหน่งเดียว และ 3. แปลผลไม่ได้ เมื่อ ไม่เกิดแถบสีที่ตำแหน่งC โดยที่อาจจะเกิดแถบสีที่ตำแหน่ง Tหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นทุกครั้งที่ตรวจ แถบสีต้องเกิดที่ตำแหน่ง C เสมอ จึงจะแปลผลได้

ชุดตรวจโปรตีนโควิดแบบอ่านผลเร็ว เชื่อได้ไหม?

หลายท่านอาจจะสงสัยนะครับว่า ชุดตรวจ antigen test kit นี้ อ่านผลได้รวดเร็ว ภายใน15นาที จะเชื่อได้แค่ไหน? ใช่ครับ ไม่มี การตรวจใดๆในทางการแพทย์ที่จะมีความแม่นยำ100% คำว่า ความแม่นยำ ของวิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคในทางการแพทย์ เราจะดูค่าความแม่นยำของวิธีตรวจนั้นๆ จาก2ค่า คือ ความไวในการตรวจหาคนที่เป็นโรค หรือ sensitivity และความจำเพาะของการตรวจ specificity ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นของคำว่า ความไวในการตรวจ (Sensitivity) เช่น เรามีกลุ่มคนที่ติดเชื้อจริง100คน เข้ามารับการตรวจด้วยวิธีหนึ่ง พบว่ามี ผลการตรวจอ่านว่า10คนใน100คน ไม่มีการติดเชื้อ ทั้งที่มีการติดเชื้ออยู่ การที่ผลตรวจนี้ บอกผลเป็นลบ ทั้งที่คนคนนั้นมีการติดเชื้ออยู่ จึงเรียกผลตรวจที่เป็นลบนี้ว่า ผลลบที่ไม่จริง (false negative) แสดงว่า การตรวจนี้ มีความไว 90%

ส่วนค่าที่ใช้บอกความแม่นยำของการตรวจ อีกค่าหนึ่งก็คือ ความจำเพาะของการตรวจ (Specificity) เช่น นำกลุ่มคนที่ไม่มีการติดเชื้อแน่ๆมา100คน รับการตรวจนี้ทุกคน พบว่าใน100คนนี้ มีผลบวกจากการตรวจ10คน ทั้งที่คนทั้ง10คนนี้ ไม่มีการติดเชื้อเลย ซึ่งมีผลบวกแบบลวง 10% เราก็เรียกว่า การตรวจนี้มีความจำเพาะ ที่90%

การตรวจ antigen test kit ที่ใช้ในประเทศไทย แม่นยำแค่ไหน?

Antigen test kit (ATK) หรือ Rapid antigen tests(RATs) ที่ได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย) นั้นมีความแม่นยำที่แตกต่างกันในแต่ละบริษัท โดยปัญหาส่วนใหญ่ของการตรวจนี้ คือ การตรวจจะมีความไว ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีการตรวจหลัก แต่ก็มีบางยี่ห้อที่มีรายงานการวิจัยในประเทศไทยว่ามีความแม่นยำสูง กล่าวคือ ค่าความไวและความจำเพาะ มากกว่า95% ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยวิธีการตรวจหลัก

คลิกฟัง การตรวจแบบ ATK เชื่อถือได้แค่ไหน?

ถ้าการตรวจ antigen test kit ดีขนาดนี้ จะไปตรวจด้วยวิธีหลักทำไม?

การตรวจด้วยวิธี antigen test kit นี้ มีข้อเด่นคือ การตรวจมีความจำเพาะสูง กล่าวคือ ถ้าผลเป็นบวก คนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ติดเชื้อจริง แต่ ข้อด้อยของวิธีนี้ก็คือ การตรวจมีความไวไม่มากเมื่อเทียบกับการตรวจวิธีหลัก หมายความว่า ถ้าผลเป็นลบ ก็ไม่แน่ว่า คนนั้นจะไม่มีการติดเชื้อจริง ขึ้นอยู่กับความเสียงที่จะติดเชื้อด้วย เช่น คนที่ได้ผลตรวจเป็นลบ แต่มีความเสี่ยงต่ำในการที่จะติดเชื้อเช่น ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อเลยใน14วันที่ผ่านมา, ฉีดวัคซีนครบ2เข็มแล้ว หรือ เพิ่งจะติดเชื้อโควิดใน3เดือนที่ผ่านมา ก็อาจจะอนุมานว่า ไม่น่าจะติดเชื้อจริง แต่ถ้าคนนี้ ซึ่งได้ผลลบจากการตรวจ และมีประวัติการสัมผัสเชื้อโควิดมา ให้ตระหนักไว้ก่อนว่า ผลที่เป็นลบนี้ อาจจะเป็นลบแบบลวง(false negative)จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีหลักคือ RT-PCR หรือจะตรวจด้วย antigen test kit เป็นระยะ โดยตรวจ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน2สัปดาห์ ถ้าผลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง คนนั้นก็น่าจะเป็นผู้ไม่มีการติดเชื้อ แต่ถึงอย่างไรผู้ที่มีประวัติสัมผัส ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิดมา ก็ต้องแยกตัวเองออกจากคนในครอบครัวและชุมชนไปด้วย

ดังนั้นการแปลผลการตรวจนี้ จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับ ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อในแต่ละคน, ความหน่าแน่นหรือความรุนแรงของการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนนั้นๆ

การตรวจโควิด

ถ้าการตรวจทำได้ง่าย ก็ตรวจเองที่บ้านได้?

ฟังดูเหมือนว่า การตรวจสามารถทำเองที่บ้านได้ง่าย เหมือนตรวจการตั้งครรถ์ แต่ทำไมในหลายประเทศ ก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนตรวจเองที่บ้าน เพราะมี2เหตุผล

ข้อที่1 การแพร่กระจายของเชื้อในขณะทำการตรวจ ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า คำว่าตรวจเองที่บ้านในที่นี้ หมายถึงเราตรวจด้วยตัวเองคนเดียวนะครับ ไม่มีใครมาตรวจให้ เพราะว่าการมีคนมากกว่าหนึ่งคนในสถานที่ตรวจ ย่อมหมายถึง การแพร่เชื้อจากคนที่ถูกตรวจไปยังคนที่อยู่ใกล้ อย่าลืมนะครับว่า ขณะทำการตรวจผู้รับการตรวจต้องถอดหน้ากากและมีโอกาสไอจาม ขณะทำการตรวจได้ ดังนั้นถ้าต้องให้คนอื่นตรวจให้ ผู้จะทำหน้าที่ตรวจก็ต้องมีวิธีการป้องกันเชื้ออย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะต้องใส่ชุดPPE , ใส่หน้ากาก N95, face shield รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่นตามมาตรฐานสากล

ข้อที่2 ผลการตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้ ถึงแม้ว่าการตรวจ โควิด ด้วยวิธีนี้จะคล้ายการตรวจการตั้งครรภ์ที่ดูง่าย แต่ปัญหาหนึ่งของ การตรวจโควิดนี้ เทคนิคการเก็บสารคัดหลั่งในผนังคอด้านหลังโพรงจมูก ต้องเก็บถูกวิธี เพื่อจะได้สารคัดหลั่งที่จะนำมาตรวจที่เพียงพอ การป้ายสารคัดหลั่งที่ไม่ถูกตำแหน่ง หรือ ไม่มีปริมาณสารคัดหลั่งที่เพียงพอ ก็อาจจะทำให้เกิดผลการตรวจที่เป็นลบแบบลวงได้ ตลอดจนการแปลผลการตรวจก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับความเสี่ยงของผู้รับการตรวจอีกด้วย จึงจะสามารถ นำผลการตรวจไป วางแผนการตรวจอื่น ตลอดจนแนวทางปฎิบัติตัวขั้นต่อไป จึงแนะนำให้รับการตรวจโดยบุคลากรที่ชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นใน สถานพยายบาล เช่นโรงพยาบาล, คลินิก, ศูนย์ทางสุขภาพต่างๆ

คลิกฟัง ข้อจำกัดของการตรวจ ATK

ใครควรได้รับการตรวจ Antigen test kit?

การตรวจ Antigen test kit นี้ มีข้อจำกัดเรื่องความไวในการตรวจ ดังนั้นการตรวจจึงมักจะตรวจใน ผู้ที่มีอาการที่ทำให้สงสัยว่าจะเกิดจากการติดเชื้อโควิด โดยควรตรวจภายใน1สัปดาห์ หลังจากการติดเชื้อ เพราะเป็นช่วงที่เชื้อในคอจะจำนวนที่มากพอที่จะตรวจพบได้ การตรวจเร็วหรือช้าเกินไป ก็อาจจะทำให้ผลเป็นลบ ทั้งที่มีเชื้อโควิดอยู่

ส่วนในกลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อใน14วันที่ผ่านมา, ยังได้วัคซีนไม่ครบ2เข็ม หรือ เป็นผู้ไม่เคยป่วยจากเชื้อโควิดมาก่อน การตรวจก็สามารถทำได้ในกลุ่มเหล่านี้ แตโอกาสที่ผลออกมาจะเป็นลบ ทั้งที่มีเชื้ออยู่ก็ยังเป็นไปได้มาก ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อใน14วัน ถึงแม้ว่าผลการตรวจจะออกมาเป็นลบก็ตาม แนะนำให้แยกตัวเองออกมาจากคนในบ้านและชุมชน และทำการตรวจ Antigen test kit นี้ ทุก3วัน จนมีผลลบติดต่อกันตลอดใน 14วันที่กักตัว จึงจะมั่นใจได้ว่าเราจะปลอดจากการติดเชื้อ

ที่มาของข้อมูลบางส่วน

www.theconversation.com/rapid-antigen-testing-isnt-perfect-but-it-could-be-a-useful-part-of-australias-covid-response-164873

www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7665091/

นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม

ชีวา ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุ

ชีวา คลินิกกายภาพบำบัด

บางใหญ่ นนทบุรี

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ