ปวดหลังเรื้อรัง มีสาเหตุมากมาย ตั่งแต่ ปัญหาที่กล้ามเนื้อหลัง ไปจนถึงกระดูกสันหลัง ในบทความนี้ จะเน้นอาการปวดหลังที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลัง โดยมีสาเหตุที่พบบ่อยก็คือ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน (Disc herniation) และโรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) ทั้งสองโรคนี้ดูเหมือนจะคล้ายกัน คือ ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังที่เกิดจากกระดูกสันหลังไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง จนก่อให้เกิดอาการปวด เหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ ส่วนของกระดูกสันหลังที่ไปกดเส้นประสาทนั้นต่างกัน ความต่างนี้ทำให้ การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด ในสองโรคนี้มีวิธีที่ตรงข้ามกัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก กระดูกสันหลังกันก่อนนะค่ะ
กระดูกสันหลัง ของคนเรา เป็นกระดูกชิ้นเล็กที่มาเรียงต่อกันหลายสิบชิ้น เรียงกันตั้งแต่ระดับคอ มี7ชิ้น คุณหมอมักจะเรียกกระดูกในระดับนี้แต่ละชิ้นเรียงลงมา คือ C1 ถึง C7 , ระดับอก มีกระดูก12ชิ้น เรียกว่า T1-12 ส่วนระดับกระดูกที่เกี่ยวกับอาการปวดหลังนี้ ก็คือ กระดูกระดับเอว นี่แหละค่ะ ระดับนี้ มีกระดูกทั้งหมด 5ชิ้น เรียกว่า L1-L5 ข้อมูลอาจจะลึกไปบ้างนะค่ะ แต่รู้ไว้บ้างก็ไม่เสียหลาย จะได้คุยกับคุณหมอ รู้เรื่อง และเข้าใจในอาการที่เราเป็นอยู่ และอีกส่วนหนึ่งก็คือ หมอนรองกระดูก เป็นเนื้อคล้ายเยลลี่ ที่เป็นตัวคั่นระหว่างกระดูกแต่ละชิ้น จะเรียกว่าเป็นตัวดูดซับแรงกระแทกที่จะมาทำกับตัวกระดูกสันหลังก็ไม่ผิดนะค่ะ
กระดูกสันหลังคนเรา มีหน้าที่หลัก2ประการ คือ
1. ช่วยเป็นโครงร่างให้เราสามารถยืน เดิน ทรงตัวได้
2. กระดูกสันหลังยังช่วย ป้องกันไขสันหลัง ซึ่งเป็นเนื้อประสาท หรือจะเรียกว่า เป็นส่วนต่อมาจากสมองก็ได้นะค่ะ โดยไขสันหลังนี้เป็นทางผ่านของสัญญาณสมองที่ส่งมาสั่งงานกล้ามเนื้อแขนขา และอวัยวะต่างๆ โดย ไขสันหลังนี้จะแทรกตัวในช่องว่างหรือ รูในกระดูกสันหลัง ดังนั้นเนื้อไขสันหลังและ เส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลังจึงถูกโอบรอบโดยกระดูกสันหลัง เรียกว่า ปกป้องกันแบบไข่ในหิน กันเลย
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน
หมอนรองกระดูก เป็นส่วนที่แทรกระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น แกนกลางของหมอนรองกระดูกจะมีเนื้อคล้ายกับเยลลี่ ที่ห่อหุ้มด้วยพังผืดที่แข็งแรง เมื่อความเสื่อมมาเยือน การยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกลดลง ประกอบกับ การก้มผิดท่า ก็สามารถทำให้ พังผืดส่วนที่ห่อหุ้มนี้เกิดฉีกขาด หรือ โป่งออกมา เนื้อที่อยู่ในแกนกลางของหมอนรองกระดูกก็จะปลิ้นออกมาด้านหลังของกระดูกสันหลัง จนไปกด หรือระคายเคือง ไขสันหลัง หรือ เส้นประสาทสันหลัง ก่อให้เกิดการปวด, ชา, หรือ อ่อนแรงได้ และมักจะมีอาการที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
การก้มตัว จะเป็นการส่งเสริมให้ตัวหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมามากขึ้น เราจึงให้คนไข้โรคนี้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าก้มลำตัว เพื่อลดแรงที่จะมาดันให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดไขสันหลังหรือเส้นประสาทมากขึ้น
2.โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
เราคงคุ้นเคยกับ โรคข้อเข่าเสื่อมกันนะค่ะ กระดูกสันหลัง ก็เป็นข้อต่อชนิดหนึ่ง ที่วางเรียงรายกันในหลังของเราหลายสิบชิ้น ซึ่งข้อต่อเหล่านี้ก็สามารถเสื่อมได้เช่นเดียวกับข้อต่ออื่นๆ เค้าเรียกกันว่า โรคกระดูกสันหลังเสื่อม Spondylosis โดยความเสื่อมนี้จะเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลัง
กล่าวคือเมื่อเราอายุมากขึ้น หมอนรองกระดูก ซึ่งมีแกนกลางประกอบด้วยน้ำทำให้หมอนรองกระดูกมีลักษณะคล้ายเยลลี่ โดย มีพังผืดหุ้มรอบๆเป็นเปลือก เมื่อน้ำในหมอนรองกระดูกมีการเหือดแห้งลง ทำให้หมอนรองกระดูกบางลง และมีความยืดหยุ่นลดลง กระดูกซึ่งเคยมีหมอนรองกระดูกเป็นตัวคั่นกลางที่คอยช่วยลดแรงกระแทกให้ เมื่อหมอนรองกระดูกบางลงจน กระดูกสันหลัง ยุบตัวเข้ามาใกล้กันและ เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกสันหลังด้วยกัน จนก่อให้เกิดกระดูกหนาตัวขึ้นมาดูคล้ายกระดูกงอก ตามผิวของข้อต่อ ลองนึกภาพข้อต่อที่ผิวไม่เรียบ เสียดสีกันบ่อยๆ ก็เกิดการอักเสบ และยิ่งทำให้ผิวของข้อมีการหนาตัวของกระดูกเพิ่มขึ้น การยืดหยุ่นของข้อต่อกระดูกสันหลังลดลง และปัญหาปวดหลังก็ตามมาจากการที่ กระดูกที่หนาตัวนี้ ไปกดตรงช่องกระดูกที่เป็นทางผ่านของไขสันหลังหรือเส้นประสาทที่มาที่ขา ก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ชา และกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ ยิ่งเมื่อมีการแอ่นหลัง การกดเบียดเส้นประสาทหรือไขสันหลังก็จะมากขึ้น
ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าที่มีการแอ่นของลำตัว
อาการของทั้งสองโรคนี้จะคล้ายกันคือ มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงไปถึงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือในบางรายอาจจะมีอาการชาหรือมีอ่อนแรงของขาร่วมด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการรักษาของโรคทั้งสองโรคนี้มีวิธีการ ข้อห้ามและข้อควรระวังที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงจำเป็นต้องทราบว่าเราปวดหลังจากโรคไหนกันแน่ ลองสังเกตุอาการของตัวเองง่ายๆจากรูปข้างบนนี้นะค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรมาพบ แพทย์, นักกายภาพบำบัด เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
นักกายภาพบำบัดประจำ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์พักฟื้น ผู้ป่วยและ ผู้สูงอายุ ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี