ผู้สูงอายุกับ การล้ม เป็นของคู่กัน ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งล้มง่าย ประมาณว่า 1คนใน3คนของ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า65ปี จะเกิดการล้มในทุกปี
การล้มในผู้สูงอายุ ต่างจากการล้มในเด็กนะค่ะ เพราะการล้มแต่ละครั้ง หมายถึง การบาดเจ็บที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กระดูกหักที่ยากต่อการผ่าตัด หรือแก้ไข, การเกิดเลือดออกในสมอง จนถึงขั้นเสียชีวิต
ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง ยิ่งมีโอกาสล้ม แล้ว เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ทันการณ์ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่า รอให้เกิดการล้ม สูญเสียก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขนะค่ะ หาวิธีป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
ในฐานะ ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ก็มาเริ่มสำรวจกันเลยนะค่ะว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุล้ม มีทั้ง ปัจจัยภายนอก กับ ปัจจัยภายในตัวของ ผู้สูงอายุ
ปัจจัยภายนอก ก็เช่น สิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ลองเดินดูนะค่ะว่า ในห้องน้ำ มีพื้นที่ลื่นไหม? ราวจับในห้องน้ำติดตั้งตั้งแต่ทางเข้าจนถึงชักโครกหรือยัง? พื้นมีต่างระดับที่จะทำให้สะดุดล้มไหม? ในห้องอื่นๆ พื้นมีของวางขวางการเดินเช่น สายไฟ, แสงสว่างเพียงพอไหม โดยเฉพาะช่วงกลางคืน อีกอย่างก็คือ สัตว์เลี้ยงในบ้าน ที่อาจจะทำให้ ผู้สูงอายุ สะดุดจนล้มได้ ลองดูว่ารองเท้าของ ผู้สูงอายุ เหมาะสมไหม? ยิ่งรองเท้าแตะแบบนิ้วเท้าหนีบ ก็ไม่ควรใช้นะค่ะ
ส่วนปัจจัยภายใน คือปัญหาของ ตัวผู้สูงอายุเองที่ทำให้เสี่ยงต่อการล้ม ยิ่งมีหลายปัจจัย ก็บอกให้ ผู้ดูแลรู้ว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมาก เริ่มสำรวจกันจาก โรคประจำตัวที่ทำให้เสี่ยงที่จะล้ม ตั้งแต่ ตามองไม่ชัด, หูไม่ค่อยได้ยิน , อาการมึนงงหรือการทรงตัวไม่ดีทั้งจาก โรคในสมอง เช่น พาร์กินสัน, อัมพาต , สมองเสื่อมหรือแม้กระทั้ง การนอนที่ไม่เป็นเวลา
ผู้สูงอายุ ที่มีปัญหา ปวดเข่า จากข้อเข่าเสื่อม หรือ ปวดหลัง จากปัญหากระดูกสันหลัง มักจะมีปัญหาการทรงตัว และกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงจากการไม่ได้ใช้งานเพราะอาการปวด
อ้อ อย่าลืม สำรวจยาที่ ผู้สูงอายุ ใช้ด้วยนะค่ะ ตั้งแต่ ยาเบาหวานที่ทำให้น้ำตาลต่ำจนหน้ามืดได้, ยาความดัน ที่อาจจะทำให้ความดันตก จนเกิดปัญหาหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน, ยาคลายเครียดและยานอนหลับ ซึ่งในผู้สูงอายุ จะมีระบบไต ทำงานลดลง ยาก็มักจะค้างในร่างกายนานกว่าคนอายุอื่น ผู้สูงอายุจึงมีอาการมึน ง่วง ตลอด ยาแก้แพ้ อีกตัว ที่เป็นปัญหา
สุดท้ายเลยนะค่ะ สำคัญมาก ผู้สูงอายุที่เคยล้มมาภายใน6เดือน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะล้มอีกสูงมาก….ทำไม? เพราะว่า ผู้สูงอายุจะ กลัวการล้มครั้งต่อไป จนไม่กล้าเดิน หรือ เคลื่อนไหวน้อยลงกว่าเดิม จนกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเดินและการทรงตัวไม่แข็งแรง ประกอบกับ สาเหตุการล้มในครั้งแรกยังไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้แล้ว นักกายภาพบำบัด ทั่วโลก ยังมีวิธีที่จะใช้ตรวจสอบ ความเสี่ยงที่จะล้มใน ผู้สูงอายุ ซึ่งมีหลายวิธีนะค่ะ แต่ในบทความนี้ จะขอนำเสนอ วิธีที่ นักกายภาพบำบัด ใช้บ่อย และ มีความแม่นยำ การทดสอบที่ว่านี้ เรียกว่า Timed Up and Go test (TUG)
ใช้ในการประเมินความสามารถในการเดินการทรงตัว กำลังกล้ามเนื้อ และ ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำมาประมวล บอกถึง ความเสี่ยงในการล้ม ของผู้สูงอายุ รวมทั้ง ผู้ป่วยอัมพาต และ ผู้ป่วยพาร์กินสัน ได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประเมินได้แก่
1.เก้าอี้มีพนักพิง
2.สายวัด ที่ใช้วัดระยะทางที่จะใช้เดินทดสอบ 3 เมตร
3.นาฬิกาจับเวลา
การประเมินเริ่มจาก ผู้สูงอายุ นั่งบนเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนักเก้าอี้ จากนั้นลุกขึ้นยืน โดยที่อาจจะมีการ ใช้มือหรือใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวในการช่วยให้ลุกขึ้นได้ ถ้าจำเป็น และเดินด้วยความเร็วปกติไปที่จุดหมาย ในระยะทาง 3 เมตร วัดจากเก้าอี้ที่นั่ง เมื่อเดินครบระยะทาง3เมตรแล้วให้ผู้สูงอายุ หมุนตัวและเดินกลับมานั่งที่เก้าอี้ตัวเดิม
ราจะเริ่มจับเวลาตั้งแต่ผู้ประเมินบอกว่า “เริ่ม” คือ ผู้สูงอายุ เริ่มลุกจากเก้าอี้แล้วเดินไปที่จุดหมาย ระยะทาง3เมตร จนกระทั่งผู้สูงอายุกลับมานั่งที่เก้าอี้ตัวเดิม
ถ้าหาก ผู้สูงอายุ ใช้เวลา ไม่ถึง 20 วินาที ถือว่าเป็นกลุ่มที่สามารถทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันต่างๆได้ด้วยตนเอง เช่นเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ สามารถทรงตัวในท่านั่งและยืนได้ดี โอกาสล้มจึงน้อย แต่ถ้าใช้เวลา นานมากกว่า 20 วินาทีขึ้นไป มีแนวโน้มไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น ต้องมีผู้ช่วยในการเข้าห้องน้ำ อาบน้ำและเคลื่อนย้ายตนเอง ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน และสูญเสียความสามารถในการทรงตัว ไม่สามารถออกไปข้างนอกคนเดียวได้
ข้อมูลเหล่านี้ นักกายภาพบำบัด ก็จะใช้ในการสำรวจหา จุดที่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงอายุล้ม เพื่อนำมาวางแผน ฟื้นฟูส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็น กำลังกล้ามเนื้อ หรือการทรงตัว
นักกายภาพบำบัดประจำ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี
เ