Ep13 เทคนิคการเลือกไม้เท้า

“อุปกรณ์ช่วยเดิน” คำนี้ ฟังแล้ว เข้าใจยากใช่ไหมค่ะ แต่ถ้าบอกว่า ไม้เท้า หลายท่านก็คงร้อง อ๋อ อุปกรณ์ช่วยเดิน มีความสำคัญอย่างมากกับ ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยอัมพาต ช่วยให้ผู้ใช้ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ลดการพึ่งพาคนอื่น แต่ อุปกรณ์ช่วยเดินนั้น ไม่ได้มีแค่ ไม้เท้า แบบเดียว

หลายท่านอาจจะบอกว่า แบบไหนก็เหมือนกันแหละ…

อุปกรณ์ช่วยเดิน แต่ละแบบ ถูกสร้างและ ออกแบบมา ให้เหมาะสมกับ ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วย แต่ละประเภท การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่ผิดประเภท ก็อาจจะเกิดผลเสียกับผู้ใช้ได้

บทความนี้ ก็จะมา ไขข้อข้องใจ เรื่องอุปกรณ์ช่วยเดิน เหล่านี้ กัน

อุปกรณ์ช่วยเดิน มี 3 ประเภท 1.ไม้เท้า (cane) 2.ไม้ค้ำยัน (crutches) 3. โครงโลหะช่วยเดิน (walker)

1.ไม้เท้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ถือข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อช่วยพยุงร่างกาย ซึ่งมีความมั่นคงในการเดินน้อยที่สุด ไม้เท้าจะช่วยเพิ่มฐานรับน้ำหนัก เพิ่มความมั่นคง และลดการลงน้ำหนักบนขาข้างที่มีรอยโรค เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่า สะโพก ผู้ป่วยอัมพาตที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกเป็นต้น ซึ่งไม้เท้าจะมีด้วยกันหลายประเภท

ไม้เท้าก้านร่ม หรือไม้เท้าขาเดียว มีลักษณะฐานเป็นแบบขาเดียว มีความมั่นตงในการเดินน้อยที่สุดในทุกประเภท เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อสะโพก ข้อเข่าที่มีอาการปวดไม่มาก หรือผู้ป่วยอัมพาตที่มีการทรงตัวที่ค่อนข้างดี

ไม้เท้า 3 ขา ( tripod cane) ลักษณะเป็นฐาน3ขา มีความมั่นคงในการเดินมากกว่าไม้เท้าขาเดียว เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการความมั่นคงในการเดิน ผู้ป่วยอัมพาตที่การทรงตัวยังไม่ดี แต่ข้อเสียคือค่อนข้างเกะกะอาจเกี่ยวขาโต๊ะหรือของต่างๆเวลาเดินได้

ไม้เท้า 4 ขา (Quadripod cane)  มีลักษณะเป็นฐาน4ขา ซึ่งจะคล้ายกับไม้เท้า3ขา แต่ไม้เท้า4ขาจะค่อนข้างมีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพกและข้อเข่า ลงน้ำหนักได้ค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยอัมพาตที่การทรงตัวไม่ดี

ไม้ค้ำยัน (crutches) เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ต้องถือด้วยมือทั้ง2ข้าง ดังนั้นผู้ที่จะใช้ไม้ค้ำยันต้องใช้พลังงานในการเดินค่อนข้างมาก เหมาะกับผู้ป่วยอายุค่อนข้างน้อย มีกำลังแขนที่ดีทั้ง2ข้าง

ไม้ค้ำยันรักแร้ ทำจากไม้โลหะกลวง 2 อัน ใช้สำหรับค้ำยันกับสีข้างลำตัว ช่วยรับน้ำหนักได้ 80% ของน้ำหนักตัว  เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกหัก ผู้ป่วยหลังตัดขา ผู้ป่วยที่มีปัญหาการทรงตัวอื่นๆ เช่น เป็นอัมพาตขาสองข้างจากไขสันหลังบาดเจ็บ เป็นต้น

ไม้ค้ำยันข้อศอก ลักษณะจะมีขนาดสั้นกว่า ไม้ค้ำยันรักแร้ มีแถบรัดบริเวณปลายแขน ข้อดีคือมีขนาดเล็ก สามารถปล่อยมือจากไม้เพื่อหยิบจับสิ่งของได้ แต่จะช่วยรับน้ำหนักได้ 40-50% ของน้ำหนักตัว ผู้ที่ใช้จะต้องมีการทรงตัวที่ค่อนข้างดี

3. โครงโลหะช่วยเดิน (walker) เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีความมั่นคงมากที่สุด เนื่องจากมีฐานรองรับน้ำหนักกว้าง น้ำหนักเบา เดินง่าย เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี ข้อเสียคือมีขนาดใหญ่ รูปแบบการเดินจะไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากแขนไม่ได้มีการแกว่ง ไม่สามารถใช้ขึ้นลงบันไดได้

โครงโลหะช่วยเดินมาตรฐาน4ขา (standard walker) หากพับได้เรียก folding walker เวลาใช้ต้องยกโครงโลหะไปข้างหน้าก่อนจะก้าวตามไป ข้อดีคือมีความมั่นคงมาก เหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องการความมั่นคงในการเดิน ผู้ป่วยที่ผ่าตัดสะโพก ข้อเข่า ที่ยังลงน้ำหนักได้น้อย แบบพับได้จะมีความสะดวกในการเก็บและเคลื่อนย้าย ข้อเสียคือผู้ป่วยมักจะเดินค่อนข้างช้า

โครงโลหะช่วยเดินแบบมีล้อ ทั้งแบบ2ล้อและ4ล้อจะมีลักษณะที่คล้ายกัน เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงของแขนทั้ง 2 ข้าง ไม่สามารถยก walker ได้ หรือการทำงานของแขนไม่สัมพันธ์กัน เช่น ผู้ป่วยพาร์กินสัน ข้อดีคือมีจะสามารถเคลื่อนที่ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า walker ปกติ แต่ข้อเสีย คือจะเสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย จากล้อที่ติดอยู่กับโครงโลหะ

รถเข็นฝึกเดิน มีขนาดเล็ก เบา จะเหมาะกับเด็กที่มีปัญหาของการทำงานของแขนไม่สัมพันธ์กัน ได้แก่ ผู้ป่วยเด็กพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น

นักกายภาพบำบัด ประจำ

คลินิกกายภาพบำบัด

ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี

ชีวา
ศูนย์ไตเทียม
ศูนย์ไตเทียม
ชีวา
ชีวา