ตอบเลยครับว่า ต้องไปฉีด โดยเร็ว
ถาม:ทำไมต้องไปฉีดวัคซีน มันจำเป็นแค่ไหน?
เหตุผลหลักๆเลยก็คือ เชื้อโควิด ทำให้ผู้สูงอายุ เสียชีวิต
ข้อมูลในปัจจุบันชี้ชัดว่า ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ โควิด จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ตั้งแต่ ป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล, ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องอยู่ใน ไอซียู และเสียชีวิตในที่สุด จากข้อมูลสถิติทั่วโลกจะบอกว่า
ในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด 10คน จะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65ปีถึง9คน
ถาม: มีข่าวอันตรายจากวัคซีนเยอะแยะ ผู้สูงอายุจะปลอดภัยหรือไม่?
ใช่ครับ วัคซีน สามารถที่จะก่อให้เกิด ผลข้างเคียง ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น…
ความเสี่ยงที่จะแพ้อย่างรุนแรง เช่นการเกิดผื่นแพ้ทั่วตัว, เยื่อบุในปากหรือในตาบวม, หายใจลำบาก โดยมักจะแสดงอาการตั้งแต่ 15-30 นาทีหลังฉีด หรือ เริ่มมีอาการในช่วงเวลาที่ไม่เกิน 4ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน
อาการเจ็บป่วยจากการฉีดใน1-2วันแรก เช่น ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่สบายตัว
แต่เมื่อนำอัตราการเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้ มาเทียบกับ ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อ โควิด ในผู้สูงอายุ แล้ว ถือว่าผลข้างเคียงเหล่านี้มีผลน้อยมาก จึงเป็นเหตุผลที่นานาประเทศ แนะนำให้ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มแรกๆของประชากรในประเทศ ที่ควรได้รับวัคซีน ดังนั้น ผู้สูงอายุ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ห้ามฉีดวัคซีน นะครับ
กลุ่มที่ยังไม่ควร ฉีดวัคซีนในตอนนี้ ก็คือ
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงในรายที่ ฉีดวัคซีนเข็มแรก
2. หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
3. บุคคลที่อายุน้อยกว่า18ปี
ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ คงต้องรอผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อนถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา
ถาม: ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายอ่อนแอเกินที่วัคซีนจะกระตุ้นให้สร้างภูมิต่้านทานได้?
ถูกบางส่วนครับ ในผู้สูงอายุ การสร้างภูมิต้านทานหลังได้รับวัคซีน จะไม่ดีเท่ากับคนที่อายุน้อย ทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงน้อยกว่า แต่จากข้อมูลการวิจัยผลการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ เช่น การใช้ วัคซีน BioNTech/Pfizer ผลออกมาว่า วัคซีน สามารถลดอัตราการตาย หรือการนอนโรงพยาบาลได้ดีมาก ประมาณว่า หลังฉีดวัคซีนแล้ว เวลาที่ผู้สูงอายุติด เชื้อโควิด วัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ดี
ถาม: ผู้สูงอายุหลังฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะไม่เป็นโรคโควิด จริงหรือไม่?
ข้อมูลเท่าทีมีในปัจจุบัน (8พ.ค.2564) ผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังจะสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ โดยที่ตัวเองอาจจะมีอาการไม่มาก รวมทั้งไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนที่ฉีดไปแล้วจะยังคงสามารถป้องกัน ไวรัสสายพันธ์ใหม่ได้ด้วยหรือไม่? ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะอยู่ถึง6เดือนหรือไม่? ดังนั้น เวลาที่ลูกหลานมาเยี่ยมผู้สูงอายุ การดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัด ก็ยังต้องทำต่อไป
ถาม: มีคนบอกว่า เด็ก สามารถแพร่เชื้อโควิดให้ ผู้สูงอายุได้จริงหรือ?
ใช่ครับ เด็ก เป็นกลุ่มคนที่มีแสดงอาการออกมาน้อยหรือไม่มีอาการเลยเมื่อมีการติดเชื้อโควิด ทำให้เราอาจจะมองข้าม และลดการระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อในเด็กไป อีกทั้ง ตัวเด็กเองก็มักจะลืม การระวังป้องกันตัวเองทั้งการแพร่หรือรับเชื้อเข้ามา อีกทั้งปัจจุบันก็ยังไม่มีการใช้ วัคซีนในเด็ก ดังนั้นการที่เด็กเข้ามาใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ จึงมีโอกาสที่ท่านจะได้รับ เชื้อโควิดได้ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ถาม: การแยกผู้สูงอายุ ออกจาก ครอบครัว เป็นวิธีที่ดีที่สุดใช่ไหม?
ใช่ครับ การแยกตัวผู้สูงอายุออกจากบุคคลรอบข้าง เป็นวิธีสำคัญที่จะทำให้ท่านปลอดโควิด แต่สิ่งหนึ่งที่ ผู้ดูแล จะต้องไม่มองข้ามไป ก็คือ ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ซึ่งอาจจะนำพาท่านให้เกิด โรคซึมเศร้า ตามมาในที่สุด ซึ่งแน่นอนครับ ความเจ็บป่วยทางใจ ย่อมนำมาซึ่ง การล้มป่วยในที่สุด ผู้ดูแล จึงต้องยังคงจัดให้มีกิจกรรมที่จำเป็น การพบปะสื่อสารทั้งกับคนในศูนย์ดูแล และญาติพี่น้องในครอบครัว โดยจัดอยู่ในรูปแบบกิจกรรมที่ยึดหลักมาตรฐานสากลของการป้องกันเชื้อโควิด
การแยกตัวของผู้สูงอายุให้ปลอดจากโควิด ไม่ได้หมายความว่าต้องกักขังท่านในห้องตลอดเวลา การที่ผู้ดูแล รู้หลักของการป้องกันที่ดี เข้าใจจิตใจ ความต้องการผู้สูงอายุ ผู้ดูแล ก็ย่อมที่จะรู้จักจัดการกิจกรรมในประจำวัน ให้ผู้สูงอายุ ยังคงมีสังคมทั้งกับคนรอบข้างและคนในครอบครัวได้
อย่าลืมนะครับ ภาวะซึมเศร้า ก็น่ากลัว ไม่แพ้ โควิดนะครับ
ที่มาข้อมูลบางส่วน the conversation
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม-ผู้เขียน
ศูนย์ดูแล และฟื้นฟู ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี