
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ไม่มีใครหรอกครับ ที่คนเราจะไม่ทุกข์ใจ ไม่กลัว ไม่กังวล เมื่อมารับรู้ว่า ตนเองป่วย ความกลัวที่เกิดขึ้นมานี้ เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าความกลัวนี้มีมากเกินไป หรือ เกิดอยู่นาน เกินเหตุ จนรบกวนวิถีชีวิต ความกลัวนี้ก็จะกลับกลายเป็นตัวปัญหาที่ต้องจัดการ
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อคนเรารับรู้ครั้งแรกว่า ตนเองป่วย ก็จะเกิด ความกลัว ขึ้นมา ความกลัวนี้ เป็นเรื่องดี ถือว่าเป็น ปฎิกริยาป้องกันตัวเอง เพราะความกลัวนี้จะนำไปสู่ การหาทางให้ตนเองรับมือกับภัยที่เข้ามา และ เมื่อเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่ จะมีการปรับตัว ปรับความคิดจนทำให้ ความกลัวนั้นลดลง แต่บางคน เมื่อเวลาผ่านไป ความกลัว นี้ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ลดน้อยลง ติดอยู่ในวังวนของ ความกังวล ความเครียด จน กระทบกับชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง
ทำไมคนกลุ่มนี้ยังคงรู้สึกกลัวมาก กังวล เครียดเป็นเวลานาน จนทำให้ชีวิตไม่มีความสุขเลย?
ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากให้ท่านผู้อ่าน ลองหลับตา สำรวจความนึกคิดในหัวของคนเราก่อนนะครับ เคยสังเกตไหมครับว่า การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ของคนเรา เกิดจากเสียงในหัวของเรา ซึ่งก็คือ ความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัว เสียงนี้จะคอยกระซิบบอกเราอยู่เป็นระยะ ถ้าเป็นเรื่องดี ก็ดีไป แต่ในคนที่เผชิญกับความเจ็บป่วย มักจะมีแต่เรื่องที่น่ากลัว เช่น หมอบอกว่า คนไข้มี “ลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อย” ถึงแม้ คุณหมอจะบอกว่า เป็นแค่ เล็กน้อย แต่เสียงในหัวเรา คอยแต่จะบอกว่าเรานั้นเป็นโรคหัวใจแล้ว อาจจะต้องผ่าตัด, อาจจะทำงานไม่ได้ ลูกก็ยังเล็กใครจะมาดูแล เมื่อเราคล้อยตามเสียงในหัวนี้ เราย่อมเกิดความกลัว เครียด ไม่เป็นอันกินอันนอน กังวลสาระพัด เมื่อปล่อยความเครียดนี้ สะสม เป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลให้โรคที่เป็นอยู่ทรุดลง แถมยังอาจจะได้ โรคใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะเป็น โรคกระเพาะ, ความดันสูง, โรคอัมพาต
แล้วจะจัดการความ รู้สึก กลัว หรือทุกข์ใจ ตลอดเวลานี้ได้อย่างไร?
1 ตั้งสติ ทำความเข้าใจกับโรคที่เป็น คนไข้หลายคนทุกข์ใจเพราะ ความไม่รู้ เมื่อเรารู้จักในความเจ็บป่วยที่เราเป็น เราก็จะไม่รู้สึกตื่นตระหนกกับ เสียงในหัวที่คอยกระซิบเรื่องลบๆให้เราฟัง ผมยกตัวอย่างคนที่มารับการตรวจสุขภาพประจำปี แล้วหมอตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอคโค หรือ อัลตร้าซาวนด์ แล้วพบว่ามี “ลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อย” ซึ่งจริงๆแล้ว ลิ้นหัวใจที่รั่วเล็กน้อย ไม่ได้ มีผลกระทบกับสุขภาพอะไรมากมายเลย แต่เพราะการสื่อสารกับคุณหมอที่อาจจะไม่ชัดเจนพอ หมอไม่มีเวลาให้โอกาสคนไข้ได้ซักถาม, คนไข้ยังนึกไม่ออกว่าจะถามอะไร, หรือ คนไข้ไม่กล้าถาม คนไข้จึงกลับบ้านไปด้วยความไม่รู้ จนคนไข้หลายคน ก็มักจะมีความคิด ความเชื่อว่า ตนเองเป็นโรคหัวใจ จนเกิดความกลัวจน บางคนไม่กล้าทำงาน ไม่กล้าขับรถ นอนไม่หลับเครียดตลอดเวลาเป็นมาหลายปี ถึงแม้ว่าคุณหมอจะบอกว่า เป็นเล็กน้อยก็ตาม หลายครั้งที่ผมได้ฟังคนไข้เล่าความกังวลนี้ให้ฟัง ทำให้ผมรู้สึกเสียดาย เวลาที่เสียไปกับความเครียด ความกังวลที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เครียดฟรี อันนี้ก็เป็นตัวอย่างความทุกข์ที่เกิดเพราะความไม่รู้
คนไข้บางคน ป่วย ไตวายระยะสุดท้าย เข้าใจผิดว่า ระยะสุดท้ายของโรคไตวายคือ วาระสุดท้ายของชีวิต ก็เลยจินตนาการต่อว่า ตนเองคงจะมีชีวิตบนโลกนี้อีกไม่นาน จะไปฟอกไต หรือ ผ่าตัดอะไรให้ทรมาน หลายคนจึงปฎิเสธการเข้ารับการฟอกไต, ปฎิเสธการผ่าตัดเส้นฟอกไต อย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย สามารถเข้ารับการบำบัดทดแทนไต เช่น การฟอกไต หรือ ล้างไตทางหน้าท้อง และสามารถมีชีวิตที่ปกติสุขได้ หลายสิบปี
ดังนั้น ไม่อยากทุกข์ใจ ก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองรู้จักโรคที่เราเป็นอย่างชัดเจน ทางที่ดีที่สุดก็คือ สอบถามคุณหมอ ที่ดูแลเราครับ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะ คุณหมอที่ตรวจรักษาเรา คือผู้ที่มีข้อมูลความเจ็บป่วยของเรามากที่สุด จึงสามารถตอบปัญหาเราได้ดีที่สุด ถามถึง ความแน่นอนในการวินิจฉัยโรค ระดับความรุนแรง วิธีการรักษา การดูแลตัวเอง แล้วเราก็มีหน้าที่แค่ ปฎิบัติตามในสิ่งที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้โรคที่เป็นมีความรุนแรงมากขึ้น
2 ดึงตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน
คนไข้หลายคนหาความสุขในชีวิตไม่เจอ เพราะ การปล่อยให้ตัวเองตกหลุมของความกลัว ตกอยู่ในวังวนของเสียงในหัวที่เป็นลบ เสียงที่คอยกระซิบแต่ เรื่องราวร้ายๆของความเจ็บป่วยโดยที่ยังไม่เกิดขึ้น จนเกิดความกังวล ความเครียดที่สะสมอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนครับ ความเครียดสะสม นี้ ก็จะบั่นทอนทั้งสุขภาพจิตใจของคนไข้และคนรอบข้างให้แย่ลง
การดึงตัวเองให้ออกมาจากวังวนของความกลัว เริ่มด้วยการ …
ตั้งสติ ดึงความคิดตัวเองให้กลับมาสนใจกับสิ่งที่อยู่ ณ เวลา ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ, ฟังเพลง หรือ การ ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
มองเห็นความงามของ แสงแดดอุ่นๆ ในยามเช้า, ใบไม้พริ้วไหว, รอยยิ้มของลูกหลาน
ได้ยิน เสียงนกร้องที่บินผ่านไปมา, เสียงเพลงโปรดของเรา
ได้รู้รสอาหารฝีมือภรรยาที่แสนเอร็ดอร่อย
เหล่านี้ เป็นการดึงสติให้เราได้ อยู่กับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวเรา ณ เวลา ปัจจุบัน แม้ว่าจะสามารถทำได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ยังดีกว่าไม่พยายามที่จะทำ แต่เมื่อเราฝึกทำอยู่บ่อยๆ ทุกวัน ในที่สุดเราก็จะสามารถดึงสติของเราให้อยู่ ณ เวลาปัจจุบันได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ การมีสติอยู่กับปัจจุบัน อีกแบบหนึ่ง ก็คือ การเฝ้าดู รับรู้ วิเคราะห์ เสียงที่มีอยู่ในหัวเรา ณ เวลา ปัจจุบัน
เฝ้าดู เสียง หรือ ความคิดที่ผุดขึ้นมา
รับรู้ว่าเสียงเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร
วิเคราะห์ ด้วยปัญญา เพื่อ อธิบายความคิดที่ผุดขึ้นมา ในมุมมองที่เป็นบวก และสร้างสรร
เหล่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถดึงสติให้เราอยู่กับปัจจุบัน ทั้งความคิดของเรา และ สิ่งที่อยู่ทั้งภายนอกตัวเรา ณ เวลา ปัจจุบัน
3 ไม่พยายามแก้ไขในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
การพยายามแก้ไขในสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมนำมาซึ่งความสับสน ทุรนทุราย และท้อแท้ สิ้นหวัง คำว่าสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในที่นี้ ก็คือ ความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่นโรคไตวายเรื้อรัง โรคข้อเข่าเสื่อม คนไข้หลายคนติดกับดักความคิดที่วนเวียนกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ยอมรับไม่ได้ที่ตนเองต้องป่วย อยากหายจากโรคซึ่งหมอบอกว่ารักษาไม่ได้ คนไข้ หลายคนปฎิเสธการรักษาจากแพทย์ กลับดิ้นรนหายาวิเศษที่โฆษณาชวนเชื่อขายกันเกลื่อนในอินเทอร์เนต ซึ่งยาผีบอกเหล่านี้นอกจากจะไม่ทำให้ตัวโรคดีขึ้นแล้ว ยังกลับต้องมาเสียเงิน เสียทอง หรือซ้ำร้าย ได้โรคใหม่จากยาที่ใช้เพิ่มขึ้นไปอีก
การจัดการความทุกข์ นี้ก็คือการยอมรับในความเจ็บป่วยที่เราเป็น แล้วหันมา แก้ไขในสิ่งที่เราควบคุมได้
สิ่งที่เราจัดการได้ง่ายที่สุดก็คือ การควบคุมตัวเอง
การปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การเปิดใจยอมรับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น, การเข้าใจในความเสื่อมของร่างกายที่ทุกคนต้องเผชิญ , การไม่ยึดติดกับร่างกายที่สมบรูณ์ ที่เราเคยมี และสุดท้ายก็คือ การปฎิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ครับ
4 ปรับเปลี่ยนวิธีคิด
ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นเรื่องเดียวกัน แต่ทำไมคนเรามี อารมณ์ความรู้สึกต่อเรื่องราวนั้นๆต่างกัน ก็เพราะ คนเรามีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน ใครที่มีวิธีคิดที่เป็นบวก ก็จะนำไปสู่อารมณ์ในเชิงบวก เช่น คนไข้สองคน เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อย เหมือนกัน แต่สองคนนี้ มีอารมณ์ การรับรู้ต่างกัน คนที่มีวิธีคิดเป็นบวก ก็อาจจะรู้สึกว่า ฉันโชคดีและรู้สึกเบาใจจัง ที่ลิ้นหัวใจรั่วแค่เล็กน้อย ในทางกลับกันคนที่มีวิธีคิดที่เป็นลบ ก็อาจจะคิดว่า ทำไมฉันต้องเป็นโรคนี้ด้วย อารมณ์แบบลบๆ เศร้า กังวล หดหู่ ก็จะผุดขึ้นมา เป็นเรื่องที่ฟังดูยากนะครับ ที่จะให้คนเรา มองหา ความคิดที่เป็นบวก ในความเจ็บป่วย แต่ผมมีความเชื่ออยู่เสมอครับว่า
ทุกเรื่องราวแย่ๆที่เกิดขึ้นมา จะมีมุมดีๆที่สามารถทำให้เรารู้สึกเบาใจซ่อนอยู่เสมอ อยู่ที่เราจะเปิดใจมองหาหรือไม่ เช่น
ความเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้เรามีการดูแลตัวเองที่ดีขึ้น ก็เลยทำให้เราแข็งแรงกว่าเดิมขึ้นไปอีก
เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น ยอมรับ ถึงความ เสื่อมของร่างกายตามกาลเวลา เมื่อคนเราอายุมากขึ้น อวัยวะภายในก็ย่อมเสื่อมลง ไตทำงานน้อยลง หูไม่ค่อยได้ยิน ตามองไม่ชัด อย่ายึดติดว่า ฉันจะต้องไม่ป่วย ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะไม่ป่วย ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติ
เรายังโชคดี มีอีกหลายคน ที่ป่วยหนักกว่าเรามาก ทำให้เราเข้าใจเห็นใจคนรอบข้างมากขึ้น
ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ครับ ไม่มีใครถูกหรือผิด ความสำคัญอยู่ที่ว่า เรารู้สึกเบาใจขึ้น เมื่อคิดแบบนี้
ทุกข์กายแล้ว อย่าให้ทุกข์ใจนะครับ
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี

