Ep210 ไส้กรอง ฟอกไตแบบใช้ซ้ำ จะปลอดภัยไหม?ตอนที่2

ผู้ป่วยไตวาย ที่เข้ารับการฟอกไต ก็มีทั้งส่วนที่ฟอกไตโดยใช้ไส้กรองแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง กับแบบไส้กรองที่นำกลับมาใช้ซ้ำ คำถามที่สำคัญของผู้ป่วยก็คือว่า

ไส้กรองแบบนำกลับมาใช้ซ้ำจะปลอดภัยไหม?

ก่อนจะตอบคำถามนี้นะครับ ก็ต้องแจกแจงให้ชัดก่อนว่า ศูนย์ไตเทียมแห่งนั้น มีกระบวนการจัดการไส้กรอง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ได้มาตรฐานหรือไม่? การจัดการอาจจะทำด้วยการใช้มือ หรือ เครื่องมือ ก็ตาม การเตรียมไส้กรองที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการล้างไส้กรอง, การฆ่าเชื้อโรค, การทดสอบสภาพไส้กรอง จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า AAMI (Association Advancement of Medical Instrumentation) รวมไปถึง การเฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจจะได้ผลเสียจากการใช้ ไส้กรองแบบใช้ซ้ำ เช่น ประสิทธิภาพในการฟอกไตลดลง, การแพ้ต่อสารที่ติดมากับไส้กรอง, การได้รับพิษจากน้ำยาฆ่าเชื้อ, การใช้ไส้กรองสลับคน และ การติดเชื้อ

สมมุตินะครับว่า ศูนย์ไตเทียมนั้น มีการเตรียมไส้กรอง เป็นไปตามมารตรฐานสากลดังกล่าว ผมก็จะตอบว่า ในข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถใช้ไส้กรองแบบใช้ซ้ำได้

หลักการของมาตรฐานAAMI ในการเตรียมไส้กรองนี้มีอะไรบ้าง?

ผมจะไม่ลงในรายละเอียดถึงขั้นตอนในการเตรียมล้างไส้กรองนะครับ แต่ มาตรฐานเหล่านี้ มี หลักการก็คือ

1 ไส้กรองที่ใช้แล้วจะต้องมีการระบุตัวตนของผู้ป่วยที่ใช้ไส้กรองนี้ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ไส้กรองผิดคน

2 ไส้กรองที่ใช้แล้วจะต้องมีการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพของไส้กรองทุกครั้งก่อนใช้งาน เช่นการตรวจ TCV หรือการตรวจปริมาตรของไส้กรองในส่วนที่เป็นทางผ่านของเลือด ซึ่งไม่ควรที่จะต่ำกว่า80%

3 ไส้กรองที่ใช้แล้ว จะต้องมีการตรวจสอบจนมั่นใจว่า ไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อหลงเหลืออยู่ ก่อนใช้งานอีกครั้ง

4 ผู้ป่วยที่ใช้ไส้กรองแบบใช้ซ้ำจะต้องมีการติดตามผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ, การแพ้ ที่เกิดขึ้น หรือ ประสิทธิภาพของการฟอกไตที่อาจจะลดลง

แล้วถ้า ศูนย์ไตเทียม มีการเตรียมไส้กรองไม่ดีแล้วกลับนำมาใช้อีกครั้ง จะเกิดอะไรขึ้น?

การนำไส้กรองที่ใช้แล้วและไม่ได้ผ่านการจัดเตรียมที่ได้มาตรฐาน ย่อมเกิดผลเสียกับผู้ป่วย มากมายผมแบ่งออกเป็น2กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกก็คือ การได้สิ่งแปลกปลอมที่ติดมากับไส้กรองที่ถูกใช้ไปแล้ว และกลุ่มที่สอง ก็คือ ประสิทธิภาพของไส้กรองลดลง

ข้อแรก ผู้ป่วยได้รับสิ่งแปลกปลอมที่มากับไส้กรอง

1 เชื้อโรค

เชื้อโรคที่มากับไส้กรอง อาจจะเกิดจาก ความผิดพลาดของขั้นตอนใน การล้างทำความสะอาดที่ไม่เพียงพอ หรือ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ หรือ เกิดความผิดพลาดในการระบุตัวตนของผู้ป่วยก่อนใช้ไส้กรองนั้น จนเกิดการใช้ไส้กรองของผู้ป่วยคนอื่น เชื้อโรคที่เข้าไปในกระแสเลือดของผู้ป่วยก็อาจจะก่อความรุนแรงให้กับผู้ป่วยจนถึงขั้นเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

2 สารปนเปื้อน สารที่ติดมากับไส้กรองที่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น คราบโปรตีน ที่ติดมาบนไส้กรอง ซึ่งก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ มีไข้หนาวสั่น ขณะฟอกไต หรือ อาจจะเป็น น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วยก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย

ข้อสอง ประสิทธิภาพของไส้กรองลดลง

ในคลิปที่ผ่านมา ผมได้ เล่าถึงการทำงานของไส้กรอง ให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าย้อนกลับไปดู ก็จะจำได้ว่า ภายในกระบอกไส้กรอง จะประกอบไปด้วย กลุ่มของเส้นใยขนาดเล็กๆ เป็นหมื่นเส้น เส้นใยพวกนี้ จะทำหน้าที่ให้เลือดจากผู้ป่วยผ่านเข้ามาเพื่อ ทำการแลกเปลี่ยน สารเกลือแร่ หรือ น้ำที่เกิน, หรือขับสารพิษ ออกมาทางน้ำยาฟอกไตที่ดอบอยู่รอบๆ ซึ่งลักษณะเส้นใยแต่ละเส้นนี้ ก็ต้องมีโพรงภายในเส้นใย เพื่อให้เลือดผ่านเข้ามาในไส้กรอง และผนังของเส้นใยแต่ละเส้น ก็ต้องมีรูระบายเพื่อให้สารเกลือแร่ , น้ำ, ของเสียแพร่ผ่านออกมาจากเส้นใยเหล่านี้ได้

แล้วไส้กรองที่ถูกใช้งานมาแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ลองนึกภาพตามนะครับ ถ้า โพรงในแกนกลางของเส้นใย หรือ รูระบายที่ผนังของเส้นใย มีคราบเลือด มีโปรตีน เข้ามาอุดตัน การแพร่ผ่านของเลือดเข้ามาในไส้กรองก็จะน้อยลง เมื่อเลือดเข้ามาภายในไส้กรองลดลง ประสิทธิภาพในการฟอกไตก็จะลดลงด้วย

นอกจากนี้ กระบวนการล้าง โดยเฉพาะ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ก็มีผลต่อ การเสื่อมของเนื้อเยื่อของไส้กรอง มีผลต่อ การแพร่ผ่านของสารที่จะถูกขับออกมาจากเลือดของผู้ป่วยลดลง

ผู้ป่วยที่เลือกใช้ไส้กรองแบบใช้ซ้ำ มีข้อแนะนำอย่างไร?

1 เลือกศูนย์ไตเทียมที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะ ศูนย์ไตเทียมที่มีระบบการเตรียมไส้กรองที่ดี

2 ตรวจสอบ ป้ายชื่อ หรือ หมายเลขที่ระบุตัวตนของ ผู้ป่วย ที่อยู่บนไส้กรอง ทุกครั้งเพื่อป้องกันการใช้ไส้กรองสลับกับผู้ป่วยคนอื่น

3 สังเกตุ เส้นใยภายในไส้กรอง ก่อนใช้งานว่าอยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่มีคราบเลือดตกค้าง ไส้กรองไม่มีรอยแตกร้าว

4 สังเกตุ อาการของตัวเอง ทั้งในขณะที่ฟอกไต และหลังฟอกไต โดยเฉพาะ อาการที่บอกว่า ผู้ป่วยได้รับการฟอกไตที่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ไส้กรองเสื่อมสภาพ หรือ ไม่สามารถกรองของเสียออกได้ เหมือนไส้กรองใหม่

5 สอบถามและ ติดตาม ค่าการตรวจที่บอกว่า ผู้ป่วยได้รับการฟอกไตได้อย่างเพียงพอ

สัญญาณอะไรที่บอกว่า ไส้กรองนั้นไม่มีประสิทธิภาพแล้ว?

การใช้ไส้กรองที่หมดสภาพแล้ว จะเป็นอย่างไร ลองนึกภาพ อาการที่ ผู้ป่วยมาฟอกไต แต่เหมือนไม่ได้ฟอกไต เช่น อาการเบื่ออาหาร, ผอมลง คลื่นไส้อาเจียน ผลของเสีย ยูเรีย ในเลือดไม่ลดลง โดยทั่วไป ศูนย์ไตเทียมจะมีการตรวจเลือดเพื่อดู ประสิทธิภาพของการฟอกไตอยู่แล้ว ที่เรียกกันว่า การตรวจ URR และ การตรวจ Kt/V ซึ่งการที่ค่า URR ไม่ต่ำกว่า65% และ ค่า Kt/V ไม่ต่ำกว่า 1.2 ซึ่งถ้าผลเลือดต่ำกว่านี้หรือ ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาลโรคไต เกี่ยวกับ ประสิทธิภาพของไส้กรอง ที่นำมาใช้ซ้ำ

ไส้กรองสามารถใช้ซ้ำได้กี่ครั้ง?

จำนวนครั้งในการใช้ไส้กรองอันเดิม ไม่มีตัวเลขกำหนดแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สภาพไส้กรอง ผลการตรวจตามมาตรฐานการเตรียมไส้กรองที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ และ ดุลพินิจของ แพทย์พยาบาล

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
คลินิกกายภาพบำบัด
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ศูนย์ไตเทียม