ผู้ป่วยที่มีปัญหา ลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจตีบก็ตาม เมื่อความผิดปกติเหล่านี้ มีระดับที่รุนแรงมากๆ มากจน มีผลต่อการทำงานของหัวใจ จนก่อให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจโต, น้ำท่วมปอด หรือ หัวใจเต้นผิดปกติ มาถึงขั้นนี้ การรักษาก็ต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไข การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขลิ้นหัวใจที่ผิดรูปจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกต่อไป
ประเภทลิ้นหัวใจเทียม มีผลต่อวิถีชีวิตและแผนการรักษาหลังผ่าตัดที่ต่างกัน
หลังจากที่ ผู้ป่วยตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาก็คือ การเลือกประเภทของลิ้นหัวใจเทียม การเลือกนี้ ผู้ป่วยจะต้องตัดสินใจร่วมกับศัลยแพทย์เพราะการเลือกประเภทลิ้นหัวใจที่ต่างกัน ส่งผลต่อวิถีชีวิต แผนการรักษาที่ต่างกัน ซึ่งปัจจุบันลิ้นหัวใจเทียม มี2แบบคือ แบบที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ กับ แบบที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อเยื่อ หลายคนอาจจะสงสัยว่า การจะเลือกลิ้นหัวใจเทียมแบบไหน ก็ให้ศัลยแพทย์เป็นผู้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะผู้ป่วยไม่มีความรู้ จริงๆแล้ว ก็อาจจะถูกบางส่วน แต่ ลิ้นหัวใจเทียมทั้งสองแบบ ไม่มีแบบไหนที่ดีที่สุด และ การเลือกประเภทลิ้นหัวใจเทียมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียดถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัดที่แตกต่้างกัน จากการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมที่ต่างกัน
มาทำความรู้จักหน้าที่ของลิ้นหัวใจกันก่อนครับ
หลักการก็คือ ลิ้นหัวใจมีหน้าที่บังคับให้เลือดมีทิศทางการไหล ไปในทิศทางเดียว ผมยกตัวอย่างลิ้นหัวใจที่มีการผ่าตัดกันบ่อยก็คือ ลิ้นไมตรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและล่าง ในซีกซ้าย การไหลของเลือดในห้องหัวใจ ก็จะไหลทิศทางเดียวคือไหลจาก ห้องบนลงมายังห้องล่าง ลิ้นหัวใจก็เริ่มทำหน้าที่ด้วยการ เปิด ให้เลือดไหลจากห้องบนลงมาห้องล่าง ถ้าลิ้นหัวใจนี้เปิดไม่ดี ก็เรียกว่า ลิ้นหัวใจตีบ และเมื่อไหลลงมาห้องล่างแล้ว ลิ้นหัวใจจะปิดเพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนขึ้นกลับไป ถ้าลิ้นหัวใจไม่สามารถปิดกันเลือดที่ไหลย้อนขึ้นมาได้ เราก็เรียกว่า ลิ้นหัวใจรั่ว ดังนั้นลิ้นหัวใจเทียม ที่ถูกผ่าตัดใส่เข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิม ก็จะไปแก้ปัญหา การรั้ว หรือ การตีบ ของลิ้นหัวใจนั่นเอง
ลิ้นหัวใจทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร?
ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ ก็จะมีส่วนประกอบโครงสร้าง เป็นโลหะ หรือเป็นพลาสติค ทั้งหมด ในขณะที่ลิ้นหัวใจเทียมแบบเนื้อเยื่อ จะมีส่วนประกอบบางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นลิ้นปิดเปิด จะเป็นเนื้อเยื่อที่มาจากหมูหรือวัว ข้อดีข้อเสียหลักๆของลิ้นทั้งสองแบบนี้ มี2ข้อ
ข้อแรกคือ ความทนทาน ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะก็จะมีความทนทานสามารถใช้งานได้นานกว่า20-30ปี จะเรียกว่า ผ่าครั้งเดียวก็ใช้ได้ตลอดชีวิต ในขณะที่ ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ใช้งานได้นาน 10-15ปี หลังจากนั้น ลิ้นหัวใจก็จะเริ่มเสื่อม จนต้องมาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจครั้งที่สองอีก ฟังดู ลิ้นหัวใจแบบโลหะ ก็จะดีกว่า ในด้านความทนทาน
ข้อสองคือ การใช้ยาละลายลิ่มเลือด ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดไปเกาะตามลิ้นหัวใจเทียมได้ ซึ่งเมื่อเกิดการเกาะตัวของลิ่มเลือดที่ลิ้นหัวใจ สิ่งที่จะตามมาก็คือ ลิ้นหัวใจเทียมทำงานปิดหรือเปิดไม่ได้ จนทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วย เช่นน้ำท่วมปอด หรือ ลิ่มเลือดนี้ อาจจะหลุดออกจากหัวใจลอยขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดในสมองจนเกิดอัมพาตได้ ดังนั้น การกินยาละลายลิ่มเลือดหลังผ่าตัด ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และที่สำคัญ
การกินยาละลายลิ่มเลือดนี้ ไม่ใช่ว่า แค่การกินยาแล้วจบ
ยาละลายลิ่มเลือดนี้ มีหน้าที่ในการทำให้ระบบการการแข็งตัวของเลือด ช้าลง ทำให้ผู้ป่วยที่กินยานี้แล้ว เวลามีเลือดออกก็จะหยุดยาก ยานี้จึงเป็นยาที่อันตราย ต้องมีการปรับขนาดยาอยู่เสมอ เพื่อให้ฤทธิยาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยแพทย์ก็จะเจาะเลือดดูค่าการแข็งตัวของเลือด หรือที่เรียกว่า ค่าINR ทุกครั้งที่ผู้ป่วยมารับยา ถ้าค่า INR นี้สูงเกินไป ผู้ป่วยก็เสี่ยงเลือดออกผิดปกติ ในทางกลับกัน ถ้าค่า INRนี้ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องการ ผู้ป่วยก็จะเสี่ยงที่จะเกิด ลิ่มเลือดเกาะที่ลิ้นหัวใจเทียม จนเกิดปัญหารุนแรงตามมา ดังนั้น การใช้ยาละลายลิ่มเลือดนี้ ก็จะมีความยุ่งยาก ตั้งแต่การที่ผู้ป่วยต้องการมาตรวจเลือดทุกครั้งเพื่อปรับยา, การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก เช่นการเล่นกีฬาที่มีการปะทะ, การบีบนวด, การฉีดยาเข้ากล้าม, การเข้ารับการผ่าตัดหรือถอนฟัน, ความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพาตทั้งแบบเลือดออกในสมองจากยาที่มากเกินไป หรือ ลิ่มเลือดอุดตันในสมองจากยาที่น้อยเกินไป
ในขณะที่ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบเนื้อเยื่อ มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดเกาะที่ลิ้นหัวใจน้อยจึงไม่จำเป็นต้อง กินยาละลายลิ่มเลือดดังกล่าว
3 ข้อคิด ก่อนตัดสินใจเลือกประเภทลิ้นหัวใจเทียม
ข้อที่ 1 ผู้ป่วยที่เลือก ลิ้นหัวใจเทียมแบบเนื้อเยื่อ ไม่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด แต่คุณยอมรับ โอกาสที่จะต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกรอบหรือไม่?
ข้อที่2 ผู้ป่วยที่เลือก ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ คุณยอมรับ ความยุ่งยากและอันตรายจากการใช้ยา รวมไปถึงการปรับวิถีชีวิตบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกผิดปกติ ได้หรือไม่?
ข้อที่3 ผู้ป่วยหญิง อายุน้อย ที่เลือกลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ คุณมีความเสี่ยงสูงหากคุณมีการตั้งครรภ์รวมทั้งอันตรายที่จะเกิดกับทารกในครรภ์
ผมมีแนวทางเบื้องต้น ให้กับผู้ป่วยในการที่จะเลือกประเภทลิ้นหัวใจเทียม สิ่งแรกที่ เราควรพิจารณา ก็คือ อายุของผู้ป่วย อายุของผู้ป่วยมีความสำคัญมากในการที่จะเลือกประเภทของลิ้นหัวใจเทียม ดังนี้ครับ
ผู้ป่วยมีอายุ มากกว่า65 หรือไม่?
ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 65ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการผ่าตัดใส่ ลิ้นหัวใจเทียมแบบเนื้อเยื่อ การใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีอายุมากไม่ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ไม่ว่าจะเป็น การมีเลือดออกผิดปกติจากการล้ม, เลือดออกทางเดินอาหาร หรือ การผ่าตัดต่างๆ รวมไปถึง ความผิดพลาดจากการใช้ยาของผู้สูงอายุ นอกเสียจากว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีโรคอื่นที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิตอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยเป็นอัมพาต, ผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นพริ้วระรัวแบบAF ซึ่งไม่ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบไหน ผู้ป่วยก็ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ดี ดังนั้น การเลือกลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ ก็ยังจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 65ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะได้รับการผ่าตัดแบบใช้ ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ป่วยที่อายุน้อย ก็จะสามารถมีชีวิตหลังผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจครั้งแรกไปได้หลายปี จึงต้องเลือกลิ้นหัวใจเทียมที่มีความคงทน ซึ่งก็คือ ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ ทำให้ ลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะต้องเข้ามารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกรอบลง แต่การเลือกประเภทลิ้นหัวใจเทียม ไม่ได้มีสูตรสำเร็จรูป ไม่ใช้แพทย์เป็นผู้เลือกเท่านั้นนะครับ ผู้ป่วยจะต้องตัดสินใจร่วมกับแพทย์ด้วย เพราะหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่ต้องรับกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง
ผู้ป่วย ถึงแม้ว่าจะมีอายุไม่มาก ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะเสมอไป เช่น ผู้ป่วยบางคนไม่พร้อมกับความยุ่งยาก หรือ ความเสี่ยงจากการใช้ยาละลายลิ่มเลือดนี้ ผู้ป่วยก็อาจจะเลือกการใส่ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อ หรือ ผู้ป่วยหญิง อายุไม่มาก แต่วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หลังผ่าตัด ก็อาจจะเลือกการใส่ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากยาละลายลิ่มเลือดในขณะที่มีการตั้งครรภ์ โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้ ยอมรับได้กับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจรอบที่สอง
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
ศูนย์ฟอกไตประสิทธิภาพสูง และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต