Ep201 ไม่เป็น นิ่วในไต เมื่อทำสิ่งนี้

มารู้จักนิ่วในไต กันก่อนนะครับ

โรค นิ่ว ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เลยนะครับ ใครๆก็สามารถเป็นนิ่ว ได้ทั้งนั้น ก็เพราะ นิ่ว มีกำเนิดมาจากแร่ธาตุในอาหารที่คนเรากินเข้าไป กินผิด ชีวิตก็เปลี่ยน ถามว่าคนเป็นนิ่วมากแค่ไหน เอาเป็นว่า มีการศึกษา สำรวจออกมา พบว่า ในประชากร10 คน จะมี1คน ที่มีนิ่วในไต ยิ่งเป็นผู้ชายด้วย ยิ่งเจอนิ่วได้บ่อย

นิ่ว เป็นของแข็ง เสมือนว่า อยู่ๆก็มี ก้อนหินเข้าไปอยู่ในไต ในปัสสาวะคนเรา ก้อนหินนี้มาจากไหน? นิ่ว เกิดจากการก่อตัวของแร่ธาตุในอาหารที่เรากินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม , อ๊อกซาเลท และยูริค แร่ธาตุในอาหารเหล่านี้ ถ้าคนเราได้รับมากเกินไป ส่วนที่เกินไตก็จะขับออกมาในปัสสาวะ ออกมาที่กรวยไต ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเป็นตัวก้อนนิ่ว ก็คือ กรวยไต กรวยไตซึ่ง เป็นอวัยวะส่วนแรกที่คอยรองรับ ปัสสาวะที่เพิ่งออกมาจากเนื้อไต

กรวยไตอยู่ตรงไหนของไต?

การเดินทางของปัสสาวะ

การเดินทางของปัสสาวะ

ก่อนที่เราจะรู้จักการเดินทางของก้อนนิ่ว ตั้งแต่ก้อนนิ่วเริ่มก่อตัวที่กรวยไต เราทำความรู้จักการเดินทางของปัสสาวะ กันก่อน เพราะทั้งก้อนนิ่วและปัสสาวะต่างก็เดินทางมาในเส้นทางเดียวกัน

การเกิดของปัสสาวะ เริ่มจากการที่ ไตขับน้ำ เกลือแร่ แร่ธาตุ ที่ร่างกายไม่ต้องการออกมา กลายเป็นปัสสาวะ ปัสสาวะก็จะมารวมกันที่กรวยไตเป็นที่แรก แล้วปัสสาวะก็ไหลลงมาตามท่อไตทั้งสองข้าง มารวมกันที่กระเพาะปัสสาวะ รอที่จะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ เป็นปัสสาวะต่อไป

จุดกำเนิดของนิ่ว

นิ่ว กำเนิดมาจาก แร่ธาตุในอาหารที่เรากินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม ยูริค อ๊อกซาเลท จุดเริ่มต้นของการเกิด นิ่ว อยู่ที่เดียวกับจุดเริ่มต้นของปัสสาวะ ก็คือ กรวยไต หลังจากที่ทั้ง ปัสสาวะ และ แร่ธาตุต่างๆถูกขับออกจากเนื้อไต มารวมกันที่ กรวยไต ถ้าแร่ธาตุในปัสสาวะมีความเข้มข้นที่สูงมากพอ, มีภาวะความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม แร่ธาตุก็จะรวมตัวกัน โดยเฉพาะ แคลเซียมจับกับอ๊อกซาเลท เกิดเป็นผลึกลอยอยู่ในกรวยไต ค่อยๆ สะสมขนาดพอกพูนขึ้น ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กก็อาจจะไหลลงมาพร้อมกับปัสสาวะ ออกนอกร่างกายไป หรือถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ นิ่วก็อาจจะติดแถว กรวยไต ท่อไต หรือ กระเพาะปัสสาวะ ก็ได้

จุดกำเนิดของนิ่ว

กินแบบไหนที่เสี่ยงเป็นนิ่ว?

ดื่มน้ำน้อย การดื่มน้ำน้อย ไตก็จะขับปัสสาวะน้อย แต่ แร่ธาตุ ก็ยังถูกขับมาเท่าเดิมตามประเภทอาหารที่กิน ทำให้ แร่ธาตุในปัสสาวะ มีความเข้มข้นขึ้น การก่อตัวเกิดเป็นผลึกก้อนนิ่วก็จะเกิดง่ายขึ้น ดังนั้น แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ วันละ2-3ลิตร หรือ ดื่มน้ำ จนปัสสาวะเป็นสีเหลืองใส บางคนที่ออกกำลังกาย หรือทำงานกลางแจ้ง มีการสูญเสียน้ำทางเหงื่อในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว กลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดภาวะขาดน้ำ ไม่น่าเชื่อนะครับว่า คนที่ออกกำลังกาย สามารถสูญเสียน้ำ จากทางเหงื่อ หรือ ลมหายใจได้ ถึง 1-2ลิตร ในเวลา1ชั่วโมง เลยนะครับ ดังนั้น การดื่มน้ำทดแทนทั้งในช่วงก่อนออกกำลังกาย, ทุก15นาทีขณะออกกำลังกาย และ หลังออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ดื่มโดยที่ไม่ต้องรอให้รู้สึกกระหายน้ำก่อน ยิ่งถ้าพบว่า ปัสสาวะสีเข็มก็เป็นสัญญาณหนึ่งว่า เราดื่มน้ำไม่พอ

กินอาหารที่มี แคลเซียมน้อย ข้อนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ก็ในเมื่อ นิ่ว มีส่วนประกอบของ แคลเซียม ดังนั้น คนที่กินแคลเซียมน้อยๆ ก็น่าจะเกิดนิ่วน้อย ตามหลักก็น่าจะเป้นเช่นนั้น แต่มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น คือ หน้าที่หนึ่งของ แคลเซียมที่เรากินเข้าไปก็คือ แคลเซียมจะคอยจับกับ อ๊อกซาเลทในลำไส้ ซึ่งอ็อกซาเลทนี้ก็มาจากอาหารเช่นเดียวกัน ทำให้อ๊อกซาเลทไม่ให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมาก ดังนั้นคนที่กิน แคลเซียมน้อย อ๊อกซาเลท ก็จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมากขึ้น แล้ว อ๊อกซาเลท ก็จะมาที่ไต มาที่ปัสสาวะมากด้วย ทำให้เกิดนิ่วแบบ แคลเซียมออกซาเลท ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องกินแคลเซียมเยอะๆนะครับ การกินแคลเซียมมากเกินก็ก่อปัญหาได้ โดยทั่วไป ไม่ควรกินแคลเซียมเกิน1กรัมต่อวัน การดื่มนมซึ่งมีแคลเซียมเยอะ ในมื้ออาหาร 3มื้อ ก็จะช่วยให้การดูดซึมอ๊อกซาเลทที่ลำไส้ลดลง

กินอาหารเค็ม อาหารที่เค็ม ก็จะมีโซเดียม ซ่อนตัวอยู่มาก อาหารที่ว่า ก็เช่น อาหารหมักดอง, อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ ไส้อั่ว อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปทั้งหลาย ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกิน ไตก็จะขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น และการที่ไตขับโซเดียมก็จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อปัสสาวะมีปริมาณแคลเซียมมากขึ้น โอกาสเกิดนิ่วก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

กินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ดื่มเหล้า อาหารเหล่านี้ เหล่านี้ จะมีสารอาหารที่ จะทำให้ร่างกายมีระดับที่สูงขึ้น ทำให้ ยูริค ถูกขับออกมาในปัสสาวะมาก และ ปัสสาวะมีความเป็นกรดมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดนิ่วชนิดที่มีส่วนประกอบของผลึกยูริค ก็มากขึ้น จึงควรเพิ่มการรับประทานโปรตีนที่มาจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ให้มากขึ้น เช่น พืชตระกูลถั่ว งดเหล้าด้วยนะครับ

กินวิตามินซีมากเกิน คนเราไม่ควรได้รับวิตามินซี มากกว่า 1กรัมต่อวัน วิตามินซี จะถูกขับออกมาในปัสสาวะในรูปของ อ๊อกซาเลททำให้ โอกาสเกิดนิ่วก็จะสูงขึ้น วิตามินซีมีในผักผลไม้ที่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหาวิตามินซีในรูปแบบอาหารเสริม นะครับ

3อาการโรคนิ่ว

3อาการโรคนิ่ว

ผู้ป่วยส่วนใหญที่มีนิ่วอยู่มักจะไม่มีอาการผิดปกติ บางคนก็ทราบจากการไปตรวจ อัลตร้าซาวน์ ตรวจสุขภาพประจำปี การที่ก้อนนิ่ว จะก่อให้เกิดอาการได้ ก็ต้องเป็นก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่, ก้อนนิ่วที่ก่อให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ, หรือ ก้อนนิ่วที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกรวยไต ใน กระเพาะปัสสาวะ

1 ปวดเอว ผู้ป่วยมักจะปวดเอว หรือปวดหลัง ปวดท้องน้อยซีกใดซีกหนึ่ง ปวดเป็นพักๆ เป็นลูกๆ มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย บางคนปวดมากจนต้องเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉิน

2 ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน, มีตะกอน สีขุ่น มีกลิ่นไม่ดี ซึ่งการตรวจปัสสาวะ ก็จะพบว่า ผู้ป่วยมีเม็ดเลือด หรือ ผลึกนิ่วในปัสสาวะ

3 ไข้สูง ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อที่กรวยไต ก็จะมีไข้สูง ปวดเอวรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

ใช้ยารักษานิ่ว

1ใช้ยา รอให้นิ่วหลุดมาเอง

สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วไม่ใหญ่มาก ยังไม่ได้ก่อปัญหาเช่น ก้อนนิ่วไปอุดตันทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วทำให้เกิดการติดเชื้อในกรวยไต แพทย์ก็จะเลือกวิธีรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด โดยการให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆในแต่ละวัน เช่น3ลิตรต่อวัน สังเกตุว่า ปัสสาวะมีสีเหลืองใส ร่วมกับการ ใช้ยาที่คลายการบีบตัวของท่อไต รอ3-4สัปดาห์ แต่ถ้าไม่สำเร็จ ก็ต้องใช้วิธีที่ผมจะกล่าวต่อไป

เครื่องสลายนิ่ว

2 เครื่องสลายนิ่ว

สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วที่ไม่ใหญ่มาก และร่างกายไม่สามารถขับออกมาเองได้ การใช้เครื่องสลายนิ่ว ก็เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งผ่านผิวหนังด้านหลังผู้ป่วย ใกล้กับตำแหน่งของนิ่ว คลื่นที่ส่งมาจะก่อให้เกิดแรงกระแทก และการสั่นสะเทือนที่ตัวนิ่ว (Shock wave) จนทำให้ก้อนนิ่วแตกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เล็กพอที่จะสามารถหลุดผ่านลงมายังท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และขับออกมานอกร่างกายทางท่อปัสสาวะได้ การรักษาแต่ละครั้งใช้เวลา45-60นาที ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดได้ แพทย์ก็มักจะใช้ยาเพื่อลดอาการปวดไปด้วย หลังการรักษาผู้ป่วยอาจจะมีปัสสาวะปนเลือดได้ และผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องมาเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องสลายนิ่วมากกว่า1ครั้ง ก็ได้

กล้องสวนผ่านท่อปัสสาวะ

3 กล้องสวนผ่านท่อปัสสาวะ

เป็นการเอาก้อนนิ่วออกโดยการใส่อุปกรณ์ที่เป็นท่อ ผ่านท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และ ท่อไต เพื่อ เกี่ยว คล้องเอาก้อนนิ่วออกมา หรือ สามารถทำให้ก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆได้ โดยใช้กล้องเป็นตัวนำทาง

4 ผ่าตัดผ่านกล้อง

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเอาก้อนนิ่วออกได้ด้วยวิธีข้างต้น แพทย์ก็จะตัดสินใจ ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก โดยใช้กล้อง จึงเป็นการผ่าตัดที่มีแผลด้านหลัง ขนาดเล็ก โดบแพทย์จะสอดอุปกรณ์ เป็นท่อผ่านผิวหนังที่เปิดแผลไว้ ผ่านเนื้อไต ไปยังตำแหน่งของก้อนนิ่ว เพื่อทำการดูด หรือ ทำให้ก้อนนิ่วแตกและมีขนาดเล็กลงเพื่อที่จะสามารถดูดออกมา หรือ ก้อนนิ่วถูกขับออกทางท่อปัสสาวะได้

หลังจากรักษาเอานิ่วออกมาแล้ว จะมีโอกาสเกิดนิ่วก้อนใหม่ขึ้นมาได้อีกไหม?

นิ่ว เกิดจาก แร่ธาตุในอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมการกินแบบเดิมๆ ก็ไม่แปลกที่ว่า ถึงแม้ว่าก้อนนิ่วจะถูกเอาออกมาแล้ว แต่การเกิดนิ่วครั้งใหม่ก็ยังจะสามารถเกิดได้อยู่ มีรายงานว่า ในกลุ่มผู้ป่วย ที่เอาก้อนนิ่วออกไปแล้ว มีถึง 50% ที่กลับมาเป็นโรคนิ่วอีก เกิดก้อนนิ่วขึ้นมาใหม่อีก ในเวลา5-10ปี หลังการรักษาครั้งแรก

ดังนั้นการจัดการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การงดเหล้า หยุดบุหรี่ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง

นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม

ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี

ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ

คลินิกกายภาพบำบัด

ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต

ผ่าตัดเส้นฟอกไต บัตรทอง
ผ่าตัดเส้นฟอกไต
ล้างไตทางหน้าท้อง
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดุแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา
ศูนย์ไตเทียม