พอพูดถึง ไขมันสูง เรามักจะนึกถึง คอเลสเตอรอล ก่อนเลย ขณะที่ ไขมันอีกตัว คือ ไตรกลีเซอไรด์ ถูกพูดถึงน้อยกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การจัดการ ไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ที่สูง โดยไม่ต้องใช้ยา สามารถจัดการได้ง่ายกว่า การมีไขมัน คอเลสเตอรอลสูง ก่อนที่เราจะรู้วิธีการจัดการ กับ ไตรกลีเซอไรด์ เรามาทำความรู้จักกับ ไตรกลีเซอไรด์ กันสักนิดนะครับ
ใครมีระดับไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือด ที่เจาะหลังอดอาหารมากกว่า 8ชั่วโมง แล้วสูงมากกว่า 150 มก/ดล ก็ถือว่า มีระดับไขมันชนิดนี้สูง
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ ที่ สูง นั้น มาจากไหน?
ก่อนที่เราจะรู้วิธีลดไขมันชนิดนี้ เราก็ต้องรู้ก่อนว่า ไขมันไตรกลีเซอไรด์ นี้มาจากไหน
ไขมัน ไม่ว่าจะเป็น ไตรกลีเซอไรด์ หรือ คลอเรสเตอรอล ในร่างกายคนเรา มีที่มา 2แหล่ง คล้ายกัน คือ ไขมันมาจากอาหารที่คนเรากินเข้าไป และ มาจากการสร้างในร่างกายเราเอง โดยเฉพาะที่ตับ ไขมันในอาหารที่คนเรากินเข้าไปทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ หรือจากพืช โดยไขมันในอาหาร เหล่านี้ มากกว่า90%ของไขมันทั้งหมด จะเป็นไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันส่วนที่เหลือก็จะเป็น ไขมันชนิด คอเรสเตอรอล โดย ไขมัน คอเลสเตอรอล จะเป็นไขมันที่อยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้น
ดังนั้น สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คนเรามีไขมันไตรกลีเซอไรด์ สูง ก็มาจากการกินอาหารที่มีไขมันสูง ประเด็นนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ตรงไปตรงมา ก็ถ้าเรากินอาหารมันๆ เช่น อาหารทอด, เนื้อสัตว์ติดมัน กินเข้าไปเยอะๆ ไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ ก็ยิ่งสูง โดยเฉพาะในช่วงหลังอาหาร ถ้าเราไปเจาะเลือดดู ก็จะรู้เลยว่า ไตรกลีเซอไรด์หลังอาหารนั้นมีระดับสูงขึ้น แต่ว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ สูง โดยที่ไม่ได้ กินอาหารมันๆที่ว่านั้นเลย
ทำไมไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ ถึงสูง ทั้งๆที่ ผู้ป่วย ไม่ได้กินอาหารมันๆเลย?
แหล่งที่มาของไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย ไม่ได้มาจากอาหารที่มันๆ อย่างเดียวนะครับ อาหารประเภทแป้ง, คาร์โบไฮเดรท เช่น เครื่องดื่มหวาน, ขนมหวาน, ของขบเคี้ยว,ข้าว,ขนมปัง รวมไปถึงการดื่มเหล้า หรือแม้แต่อาหารประเภทโปรตีน ถ้าคนเรากินอาหารเหล่านี้ มากเกินจนเหลือใช้ สารอาหารส่วนที่เกินจากการใช้งาน ก็จะถูกแปลงร่าง กลายเป็น ไขมันแล้วสะสมตามร่างกายเอาใว้ใช้เวลาฉุกเฉิน เวลาที่ร่างกายต้องการใช้พลังงาน เช่น เวลาออกกำลังกายตอนก่อนมื้ออาหาร ไขมัน หรือ น้ำตาลในเลือดมีระดับที่ต่ำ ร่างกายก็จะต้องดึง ไขมันที่สะสมเอาไว้มาใช้เป็นพลังงานตอนที่ออกกำลังกาย แหล่งสะสมพลังงานที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ ไขมันที่หน้าท้อง ซึ่งมีทั้ง ไขมันใต้ผิวหนังที่หน้าท้อง และไขมันที่สะสมในช่องท้อง ซึ่งพบได้มากในคนที่อ้วนลงพุง(Truncal obesity)
ดังนั้น คนที่อ้วนลงพุง ก็มักจะมี ระดับไขมัน ไตรกลีเซอไรด์สูง และ ที่แย่มากกว่านั้น คนที่อ้วนลงพุง ก็มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมเกี่ยวกับการกินที่มากเกิน เท่านั้น คนเหล่านี้มักจะมีพฤติกรรมที่ ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย คือ ไม่ค่อยออกกำลังกาย ชอบใช้ชีวิตแบบสบาย ไม่เหนื่อย ไม่ชอบเดิน บางคนก็ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ บางคน เครียดง่าย นอนยาก นอนดึก อดนอน พฤติกรรมเหล่านี้ พอทำซ้ำๆ นานๆ จนเป็นนิสัย ก็ส่งผลเสียตามมามากมาย นอกจากจะทำให้เกิดภาวะ อ้วนลงพุง และมี ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงแล้ว คนคนนั้นยังมีโอกาสที่จะเกิด ความดันสูง ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL ในเลือดสูงขึ้น และ ไขมันชนิดที่ดี หรือ HDL ลดลง เกิด ไขมันพอกตับ หรือ ไขมันเกาะตับ และที่แย่กว่านั้น คือการเกิด ภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนเกิดเบาหวานตามมา และหลายท่านคงทราบนะครับว่า เบาหวาน ไม่ใช่เป็นปัญหาแค่เรื่องของ การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึง การทำลายหลอดเลือดทั่วร่างกายตั้งแต่ ศรีษะจรดปลายเท้า เช่น เบาหวานลงจอประสาทตา, อัมพาต, หลอดเลือดหัวใจตีบ, ไตวาย, หลอดเลือดส่วนปลายโดยเฉพาะ หลอดเลือดขาตีบตัน จนต้องตัดเท้า
เป็นที่ทราบกันดีว่า การจัดการ ระดับไขมัน ที่สูง ไม่ว่าจะเป็น ไตรกลีเซอไรด์ ที่สูง หรือ คอเลสเตอรอลที่สูง ก้คือ การกินยา กับการปรับพฤติกรรม แต่ การปรับพฤติกรรม สามารถลดระดับ ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ได้ดีกว่า การหวังผลในการลดคอเลสเตอรอลโดยใช้การปรับพฤติกรรม ดังนั้น การลดระดับไตรกลีเซอไรด์ โดยการปรับพฤติกรรม จึงเป็นวิธีหลัก ที่ใครก็ตามที่มี ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ต้องทำ ส่วนการจะกินยา หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ แพทย์ แต่ อ่านบทความนี้ ก็อย่าหยุดยาเองนะครับ การจะหยุดยาก็ต้องทำภายใต้การกำกับติดตามของแพทย์เท่านั้น แต่ก็มี ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก สูงระดับ เกือบ1000มก/ดล กลุ่มนี้ก็มักจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ที่สั่งให้ตับมีการสร้าง ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมากผิดปกติ กลุ่มนี้ก้จำเป็นต้องรักษาโดยการใช้ยา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการปล่อยให้ระดับ ไตรกลีเซอไรด์สูงมากๆ ผู้ป่วยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดตับอ่อนอักเสบตามมาได้
การปรับพฤติกรรมที่ว่า ก็เริ่มจากการ
เลือกรับประทานอาหาร เลือกชนิดและปริมาณแต่ละมื้อให้เหมาะ สม
หลีกเลี่ยง อาหารที่มีไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารประเภททอด
ควบคุมปริมาณอาหารที่เป็นแป้ง ของหวาน เครื่องดื่มหวาน ขนมขบเคี้ยว ไม่กินจุกจิก
ใครที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ก็ต้องเลิก เพื่อตัวเราเอง และคนรอบข้าง
เริ่มสร้างนิสัย การออกกำลังกาย นิสัยรักการเดิน การขึ้นบันได เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะวิธีไหนก็ได้ จะเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ขอให้เป็นวิธีที่เราสะดวก และสามารถทำได้ในระยะยาว ทำได้ทุกวัน อย่างน้อย30นาทีในแต่ละวัน ถ้ามาสามารถ ออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (weight resistance exercise)ร่วมด้วย อย่างน้อย 3ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะดีมาก เช่น การยกน้ำหนัก การวิดพื้น การปั่นจักรยานแบบตั้งความฝืด การเดินบนลู่ที่ปรับให้มีความชัน การกระโดดเชือก
สร้างกระบวนการคิด ที่จะทำให้เรา ไม่เครียดนาน ไม่เศร้านาน ไม่กังวลนาน
จัดการชีวิตในเวลาก่อนนอนให้ดี เพื่อเราจะได้ไม่นอนดึก ไม่อดนอน
หมั่นดู น้ำหนักของตัวเอง และที่สำคัญ ดู ไขมันรอบพุง ว่า มากน้อยแค่ไหน
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต