ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนใส่ลิ้นหัวใจเทียมมา โดยเฉพาะลิ้นเทียมที่เป็นแบบโลหะ ถือ ว่า มีข้อดีตรงที่ การผ่าตัดที่ใช้ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ จะมีความคงทนมากกว่าลิ้นเทียมที่เป็นเนื้อเยื่อ โอกาสที่ต้องผ่าตัดซ้ำสองจึงน้อยกว่า แต่ความยุ่งยากที่ตามมา ก็คือ ภาระที่ผู้ป่วยต้องกินยาละลายลิ่มเลือดตลอดชีวิต ภาระที่ว่า มีตั้งแต่ การมีวินัยในการกินยาอย่างเคร่งครัดทั้งการตรงต่อเวลาในการกินยา ความถูกต้องของจำนวนและขนาดของเม็ดยา ที่แพทย์มักจะมีการเปลี่ยนไปมาตามผลเลือดที่ตรวจในแต่ละครั้ง, การที่ผู้ป่วยจะต้องมาเจาะเลือดอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูผลของยาละลายลิ่มเลือดว่า มากไปหรือ น้อยไป, ปัญหาของเลือดที่ออกผิดกติ, ความยุ่งยากในการหยุดยาเพื่อเตรียมผ่าตัดอื่นๆ เหล่านี้ คือ ภาระที่ผู้ป่วยต้องแบกหลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หลายคนก็ท้อแท้ กับการที่ต้องกินยาทุกวัน, ต้องมาเจาะเลือดทุกเดือน, ยาก็ต้องคอยปรับเพิ่มหรือลดตลอด จน ผู้ป่วยหลายคน ถามมาว่า ถ้าไม่กินยาละลายลิ่มเลือดนี้จะได้ไหม?
คำตอบก็คือ ไม่ได้ครับ
ครั้งนี้ ผมก็จะมาเล่าให้เห็นว่า ถ้า ผู้ป่วยที่ผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม แบบโลหะ ไม่กินยาละลายลิ่มเลือด จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบง่ายๆครับ มี 2เหตุการณ์ที่จะเกิดตามมา
1 ลิ้นหัวใจเทียม เสียการทำงาน
2 เกิดอัมพาต หรือ ลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง
ลิ้นหัวใจเทียม เสียการทำงาน
ลิ้นหัวใจเทียมโดยเฉพาะลิ้นที่ทำจากโลหะ ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในร่างกายคนเรา การเกาะตัวของลิ่มเลือดตามลิ้นหัวใจเหล่านี้ ก่อให้เกิด การอุดตัน หรือ การที่ลิ้นหัวใจเทียมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่วตามมา ความรุนแรง อาจส่งผลให้ ผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำท่วมปอด หรือ เสียชีวิตได้ ซึ่งแน่นอนครับการรักษาภาวะนี้ ก็มักจะลงเอยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกครั้ง
เกิดอัมพาต
การเกิดอัมพาต ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ มักจะเกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในห้องหัวใจ ลอยขึ้นไปในหลอดเลือดสมอง แล้วก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมอง จนทำให้สมองขาดเลือดและเกิดอัมพาตในที่สุด
ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในห้องหัวใจ ก็มักจะมาจาก ก้อนเลือดที่เกาะตามลิ้นหัวใจเทียม หรือ เกิดจาก การที่หัวใจเต้นพริ้วระรัว ที่เรียกกันว่า เต้นแบบAF
เห็นไหมครับว่า เหตุการณ์ที่ตามมา จากการที่ผู้ป่วยไม่กินยาละลายลิ่มเลือด ล้วนแล้วแต่มีความรุนแรงมาก แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดตลอด แต่มี ระดับยาไม่เพียงพอ หมายความว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม จะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดในขนาดที่เหมาะสม คำว่า เหมาะสม ก็ต้องอาศัยการตรวจเลือดทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เพื่อรับยาและปรับขนาดยาให้เหมาะสม ก็คือการตรวจเลือด เพื่อดูระดับการแข็งตัวของเลือด เรียกว่า INR ซึ่งควรจะมีค่าอยู่ในช่วง 2.0-3.0 การที่ผู้ป่วยมีค่าผลเลือด INRต่ำกว่าเกณฑ์นี้ ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิด อัมพาต หรือ ลิ้นหัวใจเทียมมีปัญหาได้
ดังนั้น นอกจากการที่ผู้ป่วยจะต้องไม่ลืมกินยาทุกวันแล้ว การมาเจาะเลือดเป็นประจำและปรับขนาดยาให้เหมาะสม ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต