หลายครั้งที่ผู้ป่วยไตวาย เสียโอกาสเข้าถึงการรักษา เพราะความไม่รู้ ในครั้งนี้ ผมจะมาเล่า 5เรื่องสำคัญที่ ผู้ป่วยไตวายมักจะเข้าใจผิด หรือ ไม่รู้
1 ผู้ป่วยเข้าใจว่า “ไตวาย ระยะสุดท้าย คือ ระยะสุดท้ายของชีวิต“
ไตวาย ระยะสุดท้าย ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยกำลังเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต นะครับ
ใครที่เข้าใจผิดแบบนี้ ก็ทำให้คนคนนั้นรู้สึก สิ้นหวัง ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะสู้กับโรคต่อไป เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไต หลายคน หันหลังให้กับการรักษา ยกธงขาวยอมแพ้ ปฎิเสธการฟอกไต หรือ ล้างไตทางหน้าท้อง ไม่เอาแล้วชีวิตนี้
เป็นความเข้าใจผิด ที่ทำให้ ผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษา
ทำไมถึงบอกว่า เข้าใจผิด
โดยทั่วไป การรักษาโรคของแพทย์ จะต้องรู้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไรก่อน เช่น รู้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว ต่อมาแพทย์ผู้รักษาจึงจะมาดูว่า โรคไตวายที่ผู้ป่วยเป็นนี้ อยู่ในขั้นไหน เพราะแต่ละขั้น แ่ต่ละระยะ ของโรค มีวิธีการดูแลรักษาที่ต่างกัน
ดังนั้น คำว่า ไตวายระยะสุดท้าย หรือ ระยะที่5 จึงเป็นเพียง การ สื่อความหมายให้แพทย์ และผู้ป่วยเข้าใจ ถึงวิธีการรักษา ในระยะนั้น ซึ่งระยะนี้ เป็นระยะที่ ผู้ป่วย ต้องตัดสินใจเลือกวิธีการฟอกไต หรือล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งผู้ป่วยหลายคน ก็มีชีวิตได้อีกยาวนานหลังได้รับการฟอกไต หรือ ล้างไตทางหน้าท้อง
2 ผู้ป่วยเข้าใจว่า ” ฟอกไตทางหลอดเลือด มีแบบเดียว“
ผู้ป่วยไตวาย ที่ได้รับการฟอกไตทางหลอดเลือด หลายคน เข้าใจว่า การฟอกไตทางหลอดเลือด มีแบบเดียว เป็นความเข้าใจผิด ที่น่าเสียดายนะครับ ที่ผมบอกว่าน่าเสียดาย ก็เพราะว่า การฟอกไตทางหลอดเลือดปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีฟอกไตแบบพื้นฐาน แต่ยังมีการฟอกไตทางหลอดเลือดอีกแบบ คือ การฟอกไตแบบ ออนไลน์ ซึ่งผู้ป่วยไตวายที่ฟอกไตมานาน อาจจะยังไม่รู้จัก ทั้งที่การฟอกไตแบบออนไลน์ นี้มีมานานแล้วนะครับ อ้อ การฟอกไตออนไลน์ ไม่ได้หมายถึง ฟอกไตอยู่กับบ้านนะครับ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกันไปใหญ่
การฟอกไตแบบ ออนไลน์ หรือ การฟอกไตแบบประสิทธิภาพสูง เป็นการฟอกไต ที่ดีกว่า การฟอกไตแบบพื้นฐาน ในด้านของ การกำจัดโปรตีนของเสีย เครื่องฟอกไตแบบออนไลน์ สามารถกำจัดของเสีย ได้ดี กว่า ของเสียจึงตกค้างน้อยกว่า การที่ร่างกายมีโปรตีนของเสียตกค้าง ส่งผลต่อร่างกายในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่า จะทำให้ หลังฟอกไตไม่สดชื่น, เบื่ออาหาร, ผิวคล้ำขึ้น, หลอดเลือดหัวใจตีบ, เกิดอัมพาตได้มากกว่า ในขณะที่ ปัญหาเหล่านี้จะพบน้อยในผู้ป่วยที่ฟอกไตแบบ ออนไลน์ และที่สำคัญ ผู้ป่วยที่ฟอกไตแบบออนไลน์ มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มีอายุที่ยืนยาวกว่า ผู้ป่วยที่ฟอกไตแบบพื้นฐาน ดังนั้นในปัจจุบัน หลายๆประเทศจึงแนะนำให้ผู้ป่วยฟอกไตแบบออนไลน์ ทดแทนการฟอกไตแบบพื้นฐานมากขึ้น
3 ผู้ป่วยเข้าใจว่า “ผ่าตัดเส้นฟอกไต น่ากลัว”
พอผู้ป่วยได้ยิน หมอบอกว่า ผ่าตัดเส้นฟอกไต ก็คือการผ่าตัดหลอดเลือด ขึ้นชื่อว่า ผ่าตัดหลอดเลือด ใครได้ฟังก็คงเข้าใจว่าน่ากลัว จริงๆแล้วการผ่าตัดไม่น่ากลัว ที่ผมบอกว่าไม่น่ากลัว ก็ลองฟังข้อมูลต่อไปนี้ดูนะครับ ว่า ไม่น่ากลัวจริงไหม
อย่างแรกเลย การผ่าตัดเส้นฟอกไต ไม่ต้องนอน โรงพยาบาลหลังผ่าตัดเสร็จ คือ ผ่าเสร็จ กลับบ้านได้เลย
สอง การผ่าตัด ใช้แค่ยาชา ไม่ต้องใช้วิธีดมยาสลบ
สาม การผ่าตัดใช้เวลาแค่ 30-45นาที
สี่ การผ่าตัดเส้นฟอกไต ถูกจัดกลุ่มให้เป็น การผ่าตัดแบบ ผ่าตัดเล็ก
เหตุผลเหล่านี้พอจะทำให้ผู้ป่วย คล้อยตามผมได้ไหมครับว่า ผ่าตัดเส้นฟอกไต ไม่ได้น่ากลัว
4 ผู้ป่วยเข้าใจว่า “เป็นไตวายระยะสุดท้าย ไม่ต้องรีบทำเส้นฟอกไต รอให้มีอาการค่อยว่ากัน”
ความเข้าใจผิดนี้ ทำร้ายผู้ป่วยมานักต่อนักแล้ว ใครมีความเชื่อแบบนี้ ต้องรีบเปลี่ยนความคิด ผมจะเล่าตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย และ หมอไต ได้แนะนำให้ไปผ่าตัดเตรียมเส้นฟอกไต แต่มีหลายคนลังเล ไม่ยอมไปรับการผ่าตัด ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อไตวายที่เข้าสู่ระยะที่5 หรือ ระยะสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฟอกไตเมื่อไหร่ และมีผู้ป่วยหลายคน ที่ไม่ยอมผ่าตัด แต่เกิด ภาวะ น้ำท่วมปอด ของเสียคั่ง น้ำเกิน จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไตแบบฉุกเฉิน แต่ว่า ณ เวลานั้น ผู้ป่วย ยังไม่ได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดสำหรับฟอกไตที่แขน แต่ตอนนี้ต้องฟอกไตแล้ว แพทย์จึงต้องแทงสายฟอกไตแบบชั่วคราวที่คอ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการดึงเลือเข้าและออกจากร่างกายผู้ป่วย ในการเชื่อมต่อกับเครื่องฟอกไต ผมใช้คำว่า ชั่วคราว ก็เพราะว่า สายฟอกไตที่คอนี้ ส่วนใหญ เมื่อใช้งานไป2-3 เดือน ก็มักจะมีปัญหาตีบตัน ติดเชื้อ จนใช้งานต่อไปไม่ได้ เมื่อสายฟอกไตนี้ใช้ไม่ได้ ผู้ป่วยก็ต้องได้รับการแทงคอฝังสายฟอกไตอีกครั้ง แต่อาจจะเป็นแบบฝังที่หน้าอก ซึ่งมีระยะเวลาในการใช้งานก็จะนานกว่า สายฟอกไตที่คอแบบชั่วคราว คือประมาณ 1ปี แต่สุดท้าย ผู้ป่วยก็ต้องย้อนกลับมารับการผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนอยู่ดี เห็นไหมครับว่า ความซับซ้อนของการรักษาที่มากขึ้น เพียงเพราะว่า ผู้ป่วยลังเลที่จะเข้ารับการผ่าตัดเส้นฟอกไตแต่เนิ่นๆ
ดังนั้น ผมแนะนำว่า เมื่อหมอไต แนะนำให้ ผ่าตัดเส้นฟอกไต แล้ว ผู้ป่วยก็ควรที่จะกระตือลือล้น ในการหา สถานที่ผ่าตัดเส้นฟอกไต ซึ่งปัจจุบัน ผู้ป่วย บัตรทอง ข้าราชการ หรือ ประกันสังคม ก็สามารถ เข้ารับการผ่าตัด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และคิวในการผ่าตัดไม่นาน
5 ผู้ป่วยเข้าใจว่า “ฟอกไตแล้ว กินอาหารได้เหมือนคนทั่วไป”
ผู้ป่วยหลายคน เข้าใจผิดว่า เมื่อเข้ารับการฟอกไตแล้ว สามารถกินอะไรก็ได้ บางคน พอถึงวันที่ใกล้จะฟอกไต ก็อาจจะไปกินอาหารแบบจัดเต็ม ถึงแม้ว่า การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือการล้างไตทางหน้าท้อง จะถูกเรียกว่า เป็นวิธีบำบัดทดแทนไต แต่การทำงานของเครื่องฟอกไต หรือ ล้างไตหน้าท้อง ยังไงก้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเหมือนไตจริงๆของเรา และประเด็นที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ไตจริงๆของคนเรา ทำงานตลอดเวลา ในขณะที่ ผู้ป่วยได้รับการฟอกไตทางหลอดเลือด สัปดาห์ละ 2-3ครั้ง ซึ่งหมายความว่า วันที่ไม่ได้ฟอกไต ก็จะมีของเสียสะสมในร่างกาย รอวันที่จะมารับการฟอกไต ดังนั้นในวันที่ผู้ป่วยม่ได้ควบคุมอาหาร หรือ ปริมาณน้ำ ของเสียก็จะมากเกิน ก่อนจะถึงวันที่ได้รับการฟอกไต ผู้ป่วยก็อาจจะต้องได้รับการฟอกไตเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นไปอีก ดังนั้นถึงแม้วา ผู้ป่วยจะอยู่ในกระบวนการฟอกไตแล้ว ผู้ป่วยก็ยังต้องควบคุม อาหาร ควบคุมปริมาณน้ำในแต่ละวันตามที่แพทย์กำหนด
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต