ฮีทสโตรก ภัยร้ายใกล้ตัวคุณ

Heat Stroke ฮีทสโตรก กลายเป็นคำที่ ผู้คนในสังคมให้ความสนใจมากขึ้น จากข่าวการเสียชีวิตของผู้คนที่เกิดจาก อากาศที่ร้อนจัด เช่น ข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาในสนาม, การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกขังในรถยนต์ ก็ไม่น่าเชื่อนะครับว่า อากาศที่ร้อนนี้จะสามารถทำร้ายเราจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ คำว่า Heat Stroke หลายคน แปลเป็นภาษาไทยว่า โรคลมแดด จริงๆแล้ว 2คำนี้ ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว คำว่า ลมแดด อาจจะฟังดู เหมือน เราไปยืนตากแดดจนเป็นลม ก็แค่เป็นลม ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตแต่ คำว่า Heat Stroke มีความหมายที่รุนแรงกว่า คือ อากาศที่ร้อน (Heat) ทำร้ายร่างกายคนเราจนถึงขั้น เซลล์สมองถูกทำลาย(Stroke) ไม่ใช่แค่เป็นลมแล้วฟื้น แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำนี้ ก็ล้วนสื่อความหมายถึง โรคที่เกิดจาก อากาศที่ร้อน

ทำไม คนเราถึงเกิด Heat Stroke?

ปกติ ร่างกาย มนุษย์ จะรักษาอุณหภูมิให้อยู่คงที่ 37องศาเซลเซียส ไม่ว่า คนคนนั้น จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ หนาว หรือ ร้อน ร่างกายจะมีกระบวนการรักษาให้อุณหภมิคงที่ระดับนี้ได้ ก็ด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย อาจจะฟังดูคล้ายกับการที่เราตั้งอุณหภูมิห้องเวลาเปิดแอร์ เวลาที่เราอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน ความร้อนจากภายนอก ก็จะทำให้ อุณหภูมิในร่างกายในตัวคนเราสูงขึ้นไปด้วย ระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ก็ต้องระบายความร้อนออก ด้วยการ ขยายหลอดเลือดที่ผิวหนัง เพื่อขับน้ำ หรือ เหงื่อให้มากขึ้น เพื่อให้เหงื่อ นำความร้อนออกจากร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายก็จะลดลง แต่เมื่อเสียเหงื่อไปนานๆ ก็ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ คนเราก็จะมีความรู้สึกกระหายน้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย เราก็จะพาตัวเราออกจากสถานที่ที่มีสภาพอากาศที่ร้อนๆนั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นปฎิกริยาการป้องกันตัวเอง แต่ ถ้าร่างกายเรายังทนอยู่กับ สภาพอากาศที่ร้อนนั้นต่อไป สิ่งที่จะเกิดตามมา ก็คือ ร่างกายเสียเหงื่อจน ปริมาณน้ำในหลอดเลือดลดลง จนบางคนอาจจะมีความดันโลหิตต่ำลง ทำให้ คนเรารู้สึกอ่อนเพลียมาก คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อน ปวดหัว หน้ามืด มึนงง เหงื่อออกมาก ผื่นแดงบริเวณหน้าอก คอ กระหายน้ำมาก หรือ ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ มาก จนเกิดตะคริวที่แขน ขา หรือ หน้าท้อง หรือเป็นลม หมดสติชั่วคราว ที่เรียกกันว่า ลมแดด เราเรียกภาวะความเจ็บป่วยจากความร้อนนี้ว่า Heat Exhaustion แต่ถ้าเรายังปล่อยให้ร่างกายยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนนี้ต่อไปอีก ร่างกายก็ยิ่งขาดน้ำ จน ร่างกายระบายความร้อนออกไม่ทัน เมื่อเทียบกับ ความร้อนที่เข้าสู่ร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายจึงสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนมากกว่า 40.5องศา เซลเซียส เมื่อถึงเวลานั้น สิ่งเลวร้ายสุดขั้วของ ความเจ็บป่วยจากความร้อน ที่เรียกว่า Heat stroke ก็จะเกิดตามมา จากระบบการควบคุมความร้อนในร่างกายล้มเหลว จนร่างกายมีการสร้างสารก่อความอักเสบทั่วร่างกาย ร่วมกับ ระบบการไหลเวียนของเลือดและการทำงานของหัวใจล้มเหลว ทำให้เซลล์ในอวัยวะทั่วร่างกายถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็น สมองไม่ทำงาน, ตับวาย, ไตวายเฉียบพลัน, เกิดลิ่มเลือดกระจายทั่วร่างกาย และเสียชีวิตในที่สุด

Heat Stroke มีกี่แบบ?

Heat Stroke มี 2แบบ คือ

แบบที่หนึ่ง ภาวะ Heat Stroke ที่เกิดกับผู้สูงอายุหรือ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ เด็ก Heat Stroke แบบนี้เกิดจากความร้อนจากอากาศที่ร้อนแบบเต็มๆ ด้วยเหตุผลที่ ร่างกายของผู้สูงอายุ หรือ เด็ก มีระบบการควบคุมความร้อน หรือ ระบายความร้อนที่ไม่ดี เมื่อต้องมาติดอยู่ในสภาวะร้อนอบอ้าวมากๆและไม่สามารถปกป้องตัวเองหรือ พาตัวเองให้ออกจากสถานที่นั้นได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือ เด็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ กลุ่มนี้ก็สามารถได้รับอันตรายจากความร้อนจนเสียชีวิตได้ เราเรียกว่า Classic Heat Stroke

แบบที่สอง เป็น Heat Stroke ที่มักจะพบในกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ที่ต้องทำงาน , นักกีฬา, หรือ ทหาร ที่ต้องออกแรง เล่นกีฬา ท่ามกลางอากาศร้อน บวกกับ ความกดดันจากผู้ชมที่เชียร์ข้างสนาม, จากผู้ควบคุม หรือ โค้ช กลุ่มนี้ ร่างกายจะได้รับความร้อนนอกจาก ความร้อนที่มาจากอากาศรอบตัวแล้ว ยังจะได้รับความร้อนที่เกิดจากกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายอีกด้วย เรียกว่า Exertional Heat Stroke

หมอรู้ได้อย่างไร ว่าเป็น Heat Stroke?

การวินิจแัยของแพทย์ ต้องอาศัย 3เหตุการณ์ มาประกอบกัน ดังนี้

1. ผู้ป่วยมีอุณหภูมิในร่างกายที่สูงผิดปกติ คือมากกว่า 40.5องศา เซลเซียส ซึ่งต้องเป็นอุณหภูมิแกนกลาง คือวัดทางทวารหนัก ไม่ใช่วัดทางปาก

2. มีสัญญาน หรือ อาการ ที่บอกว่า สมองทำงานผิดปกติ เช่น พูดจาสับสน, ซึมลง, ชักเกร็ง, พฤติกรรมเปลี่ยนไป

3. มีประวัติการอยู่ในสภาวะอากาศที่ร้อนจัด

ถ้าเราพบคนที่เป็น Heat Stroke ควรทำอย่างไร?

สิ่งแรกเลยครับ ต้องเรียกขอความช่วยเหลือจากคนข้างๆ ให้ช่วยตาม หน่วยรถฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะ การช่วยเหลือผู้ป่วย Heat Stroke อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ ผู้ป่วยรอดชีวิต และฟื้นตัวกลับมาปกติได้ ในทางกลับกัน ความล่าช้าในการช่วยเหลือ จะส่งผลให้ ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

หลังจากนั้นสิ่งที่เราต้องประเมินต่อไปว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพอยู่หรือไม่? ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์พยาบาลก้สามารถประเมินได้ ด้วยการ คลำชีพจรที่คอ ดูการเคลื่อนไหวของหน้าอกจากการหายใจ ถ้าตรวจพบว่าไม่มีสัญญาณชีพแล้ว เราก็ต้องช่วยฟื้นคืนชีพโดยเร็ว หรือ ปั็มหัวใจ แต่ถ้าสัญญาณชีพของผู้ป่วยยังมีอยู่ สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักในการปฐมพยาบาลขั้นต่อไปก็คือ

การทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีอุณหภูมิลดลงโดยเร็ว

โดยการย้ายผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเท หรือ ห้องที่มีแอร์ หรือพัดลม ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ความร้อนระบายออกจากร่้างกายได้ง่าย เช็ดตัวแขนขา หรือ ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งวางตามซอกขา, รักแร้, ซอกคอ หรือ ฉีดน้ำด้วยขวดสเปรย์ บนร่างกายผู้ป่วย แต่ไม่ควรนำผู้ป่วยไปแช่ในน้ำ หรือ ใช้ผ้าที่เปียกคลุมร่างกาย เพราะจะทำให้การระเหยของน้ำจากร่างกายผู้ป่วยเพื่อนำความร้อนออกจากร่างกาย ไม่ได้ดี

หากผู้ป่วยรู้ตัวดีให้ดื่มน้ำ หรือ น้ำเกลือแร่ในปริมาณที่มาก

การใช้ยาลดไข้เช่น พาราเซทตามอล หรือ แอสไพริน ไม่ได้ช่วยลดความร้อนในตัวผู้ป่วย

พยายามลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 39องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจึงจะอยู่ในภาวะที่ปลอดภัย เมื่ออุรหภูมิลดลงมาปลอดภัยแล้ว ก็ให้สามารถหยุดกระบวนการที่ใช้ลดอุณหภูมิของร่างกาย แต่ต้องเป็นการวัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย คือ วัดทาง ทวารหนัก นะครับ และ การลดอุณหภูมิของร่างกายให้เร็วเท่าไหร่ โอกาสรอดชีวิต หรือ ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาจาก Heat Stroke ก็จะมีมากขึ้น

ทำอย่างไรไม่ให้เกิด Heat Stroke?

การป้องกันไม่ให้เกิด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในกลุ่มที่เป็น ผู้สูงอายุติดเตียง ก็ควรใช้ พัดลม, หรือ เครื่องปรับอากาศ ในช่วงเวลาที่ร้อนจัด, การอาบน้ำวันละหลายๆครั้ง, การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อย 8แก้วต่อวัน, การใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการระบายอากาศ, และในเด็กเล็กก็ต้องสอดส่องดูแล ไม่ปล่อยใว้ในรถตามลำพัง การถูกขังติดในรถหรือห้องที่มีอากาศร้อนอบอ้าว สามารถทำให้ เด็กเสียชีวิตจาก Heat Stroke ได้ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ส่วนผู้ใหญ่ที่ต้องทำงาน หรือ เล่นกีฬา ก็ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังในช่วงเวลาที่ร้อนจัดเช่น 11.00-15.00น, ดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อน และ หลังออกกำลังกาย, ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ มีเนื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ง่าย, ไม่ดื่มเหล้า หรือใช้สิ่งเสพติด ในขณะออกกำลังกาย, หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ เมื่อต้องไปออกกำลังกาย เพราะยาเหล่านี้จะทำให้ร่างกายมีการสร้างเหงื่อที่ลดลง

นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม

ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี

ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ

คลินิกกายภาพบำบัด

ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต

ผ่าตัดเส้นฟอกไต บัตรทอง
ผ่าตัดเส้นฟอกไต
ล้างไตทางหน้าท้อง
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดุแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา
ศูนย์ไตเทียม