ผู้ป่วยหลายคน มีอาการ หอบเหนื่อย จนต้องนอนพักใน โรงพยาบาล หรือ อาจจะได้นอนในห้อง ไอซียูเลย ผู้ป่วยพอได้ฟัง คุณหมอบอกว่าเป็น หัวใจล้มเหลว ผมเชื่อว่า ผู้ป่วยหลายๆคน ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคนี้ คงรู้สึกแย่มากในตอนนั้น ฟังดูแแล้ว เหมือน เรากำลังเข้าใกล้ระยะสุดท้ายของชีวิต ฟังดูสิ้นหวัง เหมือนหัวใจกำลังจะหยุดเต้น หยุดทำงาน หลายคนมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ แถมเข้าไปอีก
ความจริง คำว่า หัวใจล้มเหลว หรือ Heart Failure ไม่ได้มีความหมายที่ดูแย่ สิ้นหวังขนาดนั้น
ผู้ป่วยที่มีหัวใจล้มเหลว มักจะเป็นผู้ป่วยที่เคยมีอาการ หอบเหนื่อย หลังเท้าบวม นอนราบยิ่งหอบมากขึ้น จนต้องนอนโรงพยาบาล ที่เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า น้ำท่วมปอด หลายครั้งคำว่า หัวใจล้มเหลว กับ น้ำท่วมปอด ก็ใช้สลับกันไปมา
ถ้าถามว่า หัวใจล้มเหลวรักษา หายไหม ก็ตอบตรงๆว่า ส่วนใหญ่ จะรักษาไม่หาย แต่คำว่า ไม่หายนี้ มีหลายความหมาย ที่ผมว่า ส่วนใหญ่ไม่หายนี้ หมายถึงว่า ต้นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของ หัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอด ส่วนใหญ่รักษาไม่หาย แต่ อาการของหัวใจล้มเหลว สามารถรักษา หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีกได้ ฟังแล้วอาจจะยังสับสน ค่อยๆตามผมมาเรื่อยๆนะครับ
ก่อนอื่น มารู้จักคำว่า หัวใจ ล้มเหลว กันก่อนนะครับ หัวใจล้มเหลว ก็เป็นภาวะที่ หัวใจไม่สามารถส่งเลือดออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้เพียงพอ ทำให้ ร่างกายได้รับ ออกซิเจนไม่เพียงพอ การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหัวใจ ไหลเวียนไม่สะดวก เลือดจากปอดจะไหลกลับไปที่หัวใจก็ยาก จนเกิดเลือดคั่ง ทั้งในปอด ทำให้เกิดอาการ น้ำท่วมปอด หรือ เลือดดำจากขา ไหลกลับเข้าหัวใจไม่ได้ดี น้ำก็เลยคั่งที่ขา เกิดขาบวม หรือ บางคน มีน้ำคั่งในท้อง เกิดอาการท้องโต เรียกว่า ท้องมาน
สาเหตุของหัวใจล้มเหลว ที่พบบ่อยก็คือ กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เช่น ใน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อ ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ ที่ทำให้กล้ามเนือหัวใจอ่อนแรง เช่น การแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือ การ ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอีก เช่นเดียวกันกับ ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากปัญหาลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด แก้ไขลิ้นหัวใจได้ดี แล้ว ภาวะหัวใจล้มเหลวก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
อีกสาเหตุหนึ่งของหัวใจล้มเหลวก็คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลว จนเกิด น้ำท่วมปอด โดยที่ หัวใจบีบตัวได้ดี แต่ ด้วยเหตุที่ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีกล้ามเนื้อหัวใจที่หนาตัว ส่งผลให้ กล้ามเนื้อหัวใจ ขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวได้ไม่ดี เลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจก็น้อยลง การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหัวใจก็มีการติดขัด ทำให้เลือดจากปอด เลือดจากท้อง หรือ ขา ไม่สามารถไหลกลับเข้าหัวใจไม่ได้ จนเกิดน้ำท่วมปอด ซึ่งเป็นอาการเดียวกับ กลุ่มที่มีหัวใจบีบตัวไม่ดี ในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อมาก มักจะพบใน คนที่อ้วนมากๆ, ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยความดันสูง, ผู้ป่วยไตวาย
แล้ว แพทย์มีวิธีการหาสาเหตุ หัวใจล้มเหลว ได้อย่างไร
เครื่องมือหลักๆของ แพทย์ ก็คือ เครื่อง เอคโค(echocardiogram) หลักการทำงานของเครื่องก็ คล้ายกับเครื่องอัลตร้าซาวน์ที่เราคุ้นเคย การตรวจ เอคโค นี้จะทำให้แพทย์ เห็นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ, การหนาตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ, การตีบ หรือ การรั่วของลิ้นหัวใจ, การโตของห้องหัวใจ เมื่อ แพทย์ทราบผลการตรวจเอคโค ร่วมกับข้อมูลอาการ การตรวจร่างกาย และ ผลเลือดต่างๆ ก้จะทำให้ แพทย์ทราบสาเหตุ ใน ผู้ป่วยบางรายที่แพทย์สงสัยว่า สาเหตุ หัวใจล้มเหลว อาจจะมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แพทย์ก็จะวางแผน ตรวจหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการฉีดสีต่อไป (coronary angiogram)
สรุปนะครับว่า หัวใจล้มเหลว เป็นคำที่ใช้บอกถึง ภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีจนทำให้ผู้ป่วยมีการแสดงอาการต่างๆ เช่น อาการน้ำท่วมปอด การจะรักษา ภาวะหัวใจล้มเหลว ได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้นเหตุที่ทำให้ หัวใจล้มเหลวคืออะไร การแก้ไขที่ต้นเหตุเหล่านี้ ก็จะทำให้ ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอีก
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ฟอกไตประสิทธิภาพสูง และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต