ปัญหาของการเกิดแผลที่เท้า แล้วรักษาไม่หาย ในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย พบได้ถึง 15%ในผู้ป่วยเบาหวาน
ทำไมเป็นเบาหวานแล้วแผลหายช้า?
ผู้ป่วยเบาหวาน มีการหายของแผลที่ช้า เพราะว่ากระบวนการรักษาตัวเองของร่างกายเวลาที่เกิดแผลขึ้นมาเกิดความบกพร่องกระบวนการเหล่านี้มีดังนี้
ภาวะปลายประสาทเสื่อม Neuropathy ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาปลายประสาทเสื่อม จะทำให้ การรับรู้ความรู้สึกที่ฝ่าเท้า หรือปลายเท้าลดลง การที่ความรู้สึกเจ็บ ร้อน เย็น ที่เท้าก็รับรู้น้อยลง ทำให้การระมัดระวังลดลง โอกาสที่จะเกิดการเสียดสี, ได้รับบาดเจ็บก็ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีแผลอยู่
ระดับน้ำตาลในเลือดสูง hyperglycemia การที่ร่างกายมี น้ำตาลในเลือดที่สูง ส่งผลให้เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ กำจัดสิ่งแปลกปลอม, เนื้อตาย บริเวณแผล ไม่สามารถทำงานได้ดี รวมไปถึงการติดเชื้อที่แผลยิ่งทำให้แผลหายช้าลง
หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ peripheral arterial disease ผู้ป่วยเบาหวาน มักจะมีปัญหาหลอดเลือดแดงเสื่อมทั่วร่างกาย รวมไปถึง หลอดเลือดแดงฝอยส่วนปลาย ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลมีเลือดมาเลี้ยงน้อยลง การนำสารอาหาร ออกซิเจนมายัง เซลล์ที่แผลก็ลดลง การเจริญเติบโตของเซลล์ที่จะมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่แผลก็ช้าลงด้วย
แผลหายช้า จะเกิดปัญหาอะไรตามมา?
ติดเชื้อในกระแสเลือด Sepsis
การที่แผลมีผิวหนังมาปิดช้า ก็ย่อมทำให้เชื้อโรคจากภายนอกร่างกาย สามารถเข้ามาที่แผลและก่อให้เกิดแผลติดเชื้อง่ายขึ้น อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเบาหวานก็ไม่ดีพอ ยิ่งทำให้การแพร่กระจายของเชื้อข้าสู่กระแสเลือดง่ายขึ้น จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจก่อความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นิ้วเท้าตาย Gangrene
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหา หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ร่วมด้วย ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่แผลลดลง อีกทั้งการที่แผลมีการตายมากขึ้น ย่อมทำให้หลอดเลือดฝอยที่ปลายเท้าถูกทำลายมากขึ้น ทำให้เกิดการตายของเนื่อเยื่อที่แผล ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างได้ การเกิดเนื้อตาย ก็จะนำมาซึ่งการติดเชื้อซ้ำและต้องตัดเท้าในที่สุด
การติดเชื้อในกล้ามเนื้อและกระดูก Osteomyelitis
การที่แผลหายช้า ย่อมทำให้ โอกาสที่การติดเชื้อที่แผลจะลุกลามลงไปยังเนื่อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป เช่น กล้ามเนื้อ หรือ กระดูก ก้สูงขึ้น ทำให้การรักษามีความซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการผ่าตัด
การป้องกันการเกิดแผล คือวิธีที่ดีที่สุด
1.ล้างเท้า และสำรวจเท้าทั้งฝ่าเท้า, หลังเท้า, ซอกนิ้วเท้าว่ามีความผิดปกติ มีรอยแดง, มีแผล, มีการหนาตัว รอยแตกของผิวหนัง หรือไม่
2.ใช้ครีมทาผิวที่สร้างความชุ่มชื้น
3.หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า และใช้รองเท้าที่เหมาะสมกับเท้า พื้นเรียบ ไม่หลวมหรือบีบรัดจนเกินไป พื้นนุ่ม
4.ระวังเรื่องการตัดเล็บเท้า
5.รับการตรวจเท้าโดยแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ เกิดแผลเรื้อรัง หายช้า แนะนำควรรึกษา ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเรื่องแผล เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษา ก่อนที่จะสายเกินไป