หลายคนไปตรวจสุขภาพประจำปี แล้วอาจจะเคยได้รับการวินิจฉัยว่า มีไขมันแทรกในตับ หรือ ไขมันพอกในตับ แล้ว ที่เรียกว่า fatty liver แน่นอนครับ ความกังวลก็ตามมา เกิดคำถามมากมาย ไขมันพอกตับอันตรายไหม? เกิดกับเราได้ไง? จะมีวิธีรักษาไหม?
ปัจจุบัน โรคตับที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคไขมันพอกตับ หรือ fatty liver คือพบได้ใน 25% ของ ประชากร หรือประมาณว่า ในประชากร 4คน จะมี1คนที่เป็น โรคไขมันพอกตับ ไม่น่าเชื่อว่า โรคนี้จะใกล้ตัวเราขนาดนี้ แล้ว โรคไขมันพอกตับ นี้ น่ากลัวขนาดไหน
ไขมันพอกตับ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของ ไขมันที่ไปอยู่ในตับมากเกิน
ไขมันพอกตับ ไม่ได้เป็นแค่เรื่อง ไขมันเข้าไปแทรกในตับมากเกิน แต่จริงๆแล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีไขมันพอกตับมีโอกาสที่ตับจะถูกทำลายต่อไป ด้วยการที่เนื้อตับเกิดการอักเสบ จนเนื้อตับถูกทำลายแล้วมีพังผืดเข้ามาแทนเนื้อตับปกติ จนกลายเป็น โรคตับแข็ง หรือ ไม่ก็ โรคมะเร็งตับ ตามมา แต่ ใครที่มีไขมันพอกตับอ่านแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจนะครับ เพราะว่า การที่ตับจะถูกทำลายแบบนี้จะเกิดได้ประมาณ 1ใน10ของคนที่เป็นโรคนี้ ไม่ได้เกิดกับ คนที่มีไขมันพอกตับทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมีไขมันพอกตับแล้ว เป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเสี่ยงที่จะเกิดโรคตับแข็งหรือ มะเร็งตับในอนาคต
ใครมีโอกาสเป็นไขมันพอกตับบ้าง?
เนื้อตับปกติ จะมีสัดส่วนไขมัน ไม่เกิน 5% การที่แพทย์ ตรวจพบว่ามีไขมันในเนื้อตับในสัดส่วนที่มากกว่า ปกติ ก็บอกว่า เรามีไขมันพอกตับ ซึ่งแพทย์ มักจะใช้การตรวจ ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ ร่วมกับ ตรวจเลือด ดูการทำงานของไต หรือ การตรวจชิ้นเนื้อตับ ด้วยการเจาะตับ ส่วนใหญ่ โรคไขมันพอกตับ ก็จะพบในคนที่ดื่มเหล้ามากๆ แต่คนที่ไม่ดื่มเหล้า ก็พบได้นะครับ พบได้ไม่น้อยด้วย เช่น คนอ้วน โดยเฉพาะคนที่อ้วนลงพุง ,ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน,ความดันสูง,ไขมันสูง, ผู้ที่สูบบุหรี่, ไม่ออกกำลังกาย ยิ่งเพศชายจะพบได้บ่อยกว่า เพศหญิง, ยิ่งอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสพบโรคนี้มากขึ้น แต่ว่า ในเด็กก็เป็นโรคนี้ได้เหมือนผู้ใหญ่นะครับ โดยเฉพาะเด้กอ้วนๆ หรือ มีระดับไขมันในเลือดสูง
ทำไมไขมันถึงมาพอกตับ?
อันตรายจาก ภาวะ ไขมันพอกตับ ก็ขึ้นกับระยะของ โรค มาทำความรู้จักระยะของโรค ไขมันพอกตับกันก่อน เราจะได้รู้ว่า เราอยู่ในระยะไหนของโรคนี้
ระยะที่1 ระยะแรก โรคไขมันพอกตับ เริ่มจาก มีไขมันเข้าไปแทรกในเนื้อตับจนมากกว่าปกติ คือ มากกว่า10% ระยะนี้ ไม่ได้มีผลกระทบการทำงานของตับ ไม่มีอาการอะไร ตับก็ยังไม่โต ตรวจพบโดยบังเอิญ เช่นไปตรวจสุขภาพ ด้วยการ อัลตร้าซาวน์ที่ตับ หรือ ตรวจสแกนพังผืด ที่เรียกว่า Fibroscan แล้วพบความผิดปกติ
ระยะที่2 ระยะตับอักเสบ
ระยะที่3 ระยะพังผืดแทรกตับ
ระยะที่4 ระยะตับแข็ง
โรค ไขมันพอกตับ มีวิธีจัดการไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มียาที่เฉพาะ รักษา โรคนี้โดยตรง การรักษาหลักๆก็คือ การจัดการเรื่องน้ำหนัก, การควบคุมระดับ น้ำตาล, ระดับไขมัน และ ระดับความดันโลหิต ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่ความสำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ การจัดการโรค ไขมันพอกตับเพื่อ ลดไขมันที่สะสมในตับ ก็ต้องดูระยะของโรคด้วย ถ้าระยะของโรค เริ่มเข้าสู่ระยะที่เนื้อตับกลายเป้นพังผืด, กลายเป็น ตับแข็ง นั้นหมายความว่า ทำยังไง ก้ไม่สามารถ กู้คืนเนื้อตับที่เสียไปได้ การจัดการตั้งแต่เพิ่งเริ่มเกิด ไขมันพอกตับจึงสำคัญ การจัดการ ไขมันพอกตับ ที่ว่า ท่านสามารถทำได้เองที่บ้าน
ดื่มเหล้า หรือ สูบบุหรี่ ไหม? ได้เวลา เลิกเหล้า หยุดบุหรี่แล้วนะครับ ผมเชื่อว่า คุณทำได้
น้ำหนักเกินไหม? ดูน้ำหนัก ว่าเกินไหม คิดแบบเร็วๆ ก็คือ เอาส่วนสูงเป็น เซนติเมตร ลบ ด้วย 100 ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่า ค่าที่ได้ ก็บอกคร่าวๆว่า น้ำหนักเกิน เช่น สูง 160 ซม เอา 160 ลบด้วย100 ได้ 60 น้ำหนักก็ไม่ควร เกิน 60 ใครเกินก็ต้องเริ่ม มีสติในการกินให้มากขึ้น ไม่กินจุกจิก งดของหวาน งดแป้ง งดเครื่องดื่มหวานๆ ดื่มแต่น้ำเปล่า
อ้วนลงพุงไหม? อย่าลืมวัดรอบพุงด้วยนะครับ เวลาวัด ยืนให้เท้าทั้งสองข้างห่างกัน 10ซม. วัดระดับขอบบนของกระดุกเชิงกราน หรือ ระดับสะดือ ผู้ชายไม่ควรจะมากกว่า 90ซม. ผู้หญิงไม่เกิน80ซม.
ออกกำลังกายประจำไหม? คำว่า ออกกำลังกายประจำ ก็คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ออกกำลังกายบ่อยคือ อย่างน้อย 5วันต่อ สัปดาห์ ต่อเนื่อง คือ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30นาที และวิธีการก็ต้องเหมาะสมกับ วัย ความถนัด ความชอบ และก็ ตัวโรคที่เป็น ถ้าคิดไม่ออกว่า จะออกกำลังกายแบบไหนดี ก้ เดิน เดิน แล้วก็ เดิน ง่ายแล้วก็ ได้ผลดีไม่แพ้การออกกำลังกายวิธีอื่น
ดื่มกาแฟวันละ2-3แก้วต่อวัน ปัจจุบันมีข้อมูลจากหลายการศึกษาที่พบว่า การดื่มกาแฟ ช่วยลดการเกิดไขมันพอกตับได้ แต่การดื่มกาแฟวันละหลายๆแก้วก็อาจจะไม่เหมาะกับบางคน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาจากการดื่มกาแฟ เช่นใจสั่น นอนไม่หลับ และ กาแฟที่ดื่มก็ควรเป็นกาแฟดำ ไม่เติม น้ำตาล, ครีมเทียม แต่ในส่วนตัวนะครับ ผมถือว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการ ไขมันพอกตับก็คือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในข้างต้น
ส่วนใครที่ยังแก้ไขพฤติกรรมที่มีปัญหาไม่ได้ ก็อย่าท้อถอย เพราะ การปรับพฤติกรรม หรือ การสร้างพฤติกรรมใหม่ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้ง่ายๆ แต่ก็อย่า หยุดที่จะปรับเปลี่ยน เริ่มด้วยการ วางเป้าหมาย ที่จะปรับเปลี่ยนในแต่ละวัน อาจจะมากน้อย ก็ขอให้ได้ทำ การสร้างพฤติกรรมใหม่เหล่านี้ นอกจากจะช่วยลด ไขมันพอกตับแล้ว ยังจะส่งผลดีอื่นอีกเช่น
ผลการตรวจเลือด เช่น ระดับ น้ำตาล, ระดับไขมันในเลือด, ระดับความดันโลหิต ควบคุมได้ง่ายขึ้น สามารถลดการใช้ยาลง
การที่เราควบคุม ผลการตรวจเหล่านี้ได้ นั่นก็หมายถึง เราสามารถป้องกัน ไม่ให้ โรคไขมันพอกตับ ก้าวหน้าไปสู่ ระยะ ตับกลายเป็นพังผืด, ตับแข็ง และ มะเร็งตับ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ สาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งของการเสียชีวิตของ ผู้ป่วยไขมันพอกตับ ก็คือ โรคหัวใจ โดยเฉพาะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย การปรับพฤติกรรมเหล่านี้ ยังช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้อีกด้วย
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต