เตรียมเส้นฟอกไตแบบไหนดี?
ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ที่เลือกการฟอกไตทางหลอดเลือด ก็ต้องมี ช่องทางให้เครื่องฟอกไตดึงเลือดเข้าและส่งคืนสู่ร่างกาย ช่องทางนี้ ที่เป็นช่องทางมาตรฐาน หรือช่องทางแบบถาวร ใช้กันนานๆ มีช่องทางเดียว ก็คือ เส้นฟอกไตที่แขนแบบเส้นจริง
ถึงแม้ว่า ช่องทางในการดึงเลือดมาฟอกไตจะมีหลายวิธี แล้ว วิธีไหนดี? ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะแพทย์ จะเลือกความเป็นไปได้ที่จะผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนแบบเส้นจริงก่อนเสมอ นอกเสียจากว่า เส้นเลือดของผู้ป่วยมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถผ่าตัดแบบเส้นจริงได้ ก็ต้องเลือกวิธีอื่น เช่น ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนแบบใช้เส้นเทียม หรือ การใส่สายฟอกไตที่คอแทน
ผมขอสรุปชนิดของช่องทางดึงเลือดมาเครื่องฟอกไต ทั้งหมด ออกเป็น 2กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า เส่้นฟอกไต และกลุ่มที่สอง เรียกว่า สายฟอกไต ฟังดูแล้ว ก็คล้ายๆกัน คือแบบนี้ครับ คำว่า เส้นฟอกไต ก็คือการผ่าตัดเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำที่แขน ซึ่งมี2วิธี
วิธีแรกคือ ผ่าตัดโดยใช้เส้นเลือดจริง ก็คือการผ่าตัดเอาเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงมาต่อกัน ไม่มีการฝังวัสดุทางการแพทย์ใดๆในแขนผู้ป่วยเลย
วิธีที่สอง ผ่าตัดโดยใช้เส้นเลือดเทียม สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบใช้เส้นเลือดจริงได้ เพราะว่าเส้นเลือดมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถผ่าตัดให้ใช้งานได้ แพทย์ก็จะไปเลือกผ่าตัดอีกวิธี คือ ผ่าตัดแบบใช้เส้นเลือดเทียม ก็เป็นการผ่าตัดเส้นเลือดที่แขนเหมือนกัน แต่ไม่ได้ผ่าตัดเอาเส้นเลือดเหล่านี้มาเชื่อมกันโดยตรง แต่จะใช้เส้นเลือดเทียมมาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างเส้นเลือดดำกับเส้นเลือดแดง เส้นเลือดเทียมนี้ ก็เป็นวัสดุทางการแพทย์ ที่จะถูกฝังในแขนผู้ป่วย
ช่องทางหลักที่ใช้ในการฟอกไต ก็มีแค่นี้เองครับ แต่ก็มี
ผู้ป่วยบางคนที่ไม่ได้ ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขน แต่ ต้องใช้การใส่ “สายฟอกไตที่คอ”แทน ได้แก่ผู้ป่วยสองกลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรก ผู้ป่วยที่มีระยะโรคไตวาย ที่ถึงเวลาต้องฟอกไตแล้ว แต่ ผู้ป่วยยังไม่ได้รับการผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนรอเอาไว้ก่อน
กลุ่มสอง ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายหรือ หลอดเลือดไม่สามารถทำการผ่าตัดเส้นฟอกไต ได้
คำว่า สายฟอกไต ก็คือ ท่อขนาดเล็ก ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ โดยท่อนี้ จะถูกสอดใส่ที่หลอดเลือดดำที่คอ ปลายด้านหนึ่งก็จะอยู่ที่ หลอดเลือดดำที่ทรวงอกใกล้หัวใจ ส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งจะอยู่นอกร่างกายผู้ป่วย โดยสายฟอกไตนี้มี2แบบ แบ่งตามระยะเวลาการใช้งาน คือ แบบชั่วคราว กับ แบบกึ่งถาวร ทั้งสองแบบ ก็จะมีตำแหน่งปลายสายในส่วนที่อยู่ในร่างกาย อยู่ตำแหน่งเดียวกัน คือ ในหลอดเลือดดำที่ทรวงอก ใกล้หัวใจ แต่ต่างกันในส่วนของปลายสายส่วนที่อยู่นอกร่างกาย คือ แบบชั่วคราว ปลายสายจะโผล่ออกมาบริเวณ ต้นคอ แต่แบบกึ่งถาวร ปลายสายจะโผล่ออกมาตรงหน้าอกใต้กระดูกไหปลาร้า
ความต่างของตำแหน่งที่ออกมาจากร่างกายของปลายสายฟอกไต นี้ มีผลต่อ ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ โดยสายฟอกไตที่โผล่ออกมาจากผิวหนังในตำแหน่งทรวงอกซึ่งเป็นแบบกึ่งถาวร จะมีโอกาสติดเชื้อที่หลอดเลือดยากกว่า แบบชั่วคราว เพราะว่าตำแหน่งของแผลที่ผิวหนัง ของแบบกึ่งถาวร อยู่ที่หน้าอก ซึ่งห่างจากตำแหน่งที่แทงหลอดเลือด ซึ่งก็คือบริเวณต้นคอ ในขณะที่ แบบชั่วคราวนั้น ตำแหน่งแผลที่ผิวหนังและตำแหน่งที่แทงเส้นเลือดอยู่ตำแหน่งเดียวกันคือที่ต้นคอ ซึ่งทำให้เชื้อซึ่งจะเข้ามาทางแผลที่ผิวหนังผ่านมาที่หลอดเลือดได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลที่ว่า สายฟอกไตแบบชั่วคราว ไม่ควรใช้นานกว่า1สัปดาห์ ในขณะที่ สายฟอกไตแบบกึ่งถาวร สามารถใช้ได้นานถึง1-2ปี แต่ในที่สุดแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการใส่สายฟอกไตที่คอ ก็จะต้องถูกวางแผนให้ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนซึ่งเป็นวิธีหลัก และ เป็นวิธีเดียว ที่ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ในระยะยาว เราจึงเรียกว่า การผ่าตัดเส้นฟอกไตแบบถาวร
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม
ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี
ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต
ชีวา เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ ตั้งอยู่ใน ซอยกันตนา บางใหญ่ นนทบุรี
การบริการประกอบไปด้วย
ศูนย์พักฟื้น กายภาพบำบัด และ ดูแลผู้สูงอายุ แบบพักรายเดือน
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ไตเทียม หรือศูนย์ฟอกไต โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทอง เบิกค่าใช้จ่ายในการฟอกไตได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
คลินิกทำเส้นฟอกไต โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านหลอดเลือด ผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทอง สามารถเบิกได้ตามสิทธิ คลินิกโรคหัวใจ คลินิกกระดูกและข้อ
ชีวา , ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ , ศูนย์ไตเทียม , ศูนย์ฟอกไต , ไตวาย , ฟอกไตไม่เสียค่าใช้จ่าย , คลินิกกายภาพบำบัด , คลินิกโรคหัวใจ , คลินิกกายภาพบำบัด , ฟอกไตทางหลอดเลือด , ทำเส้นฟอกไต , ฟอกไตบัตรทอง, คลินิกผ่าตัดเส้นฟอกไต, คลินิกโรคกระดูก